WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดประชาคมวนาราม หรือ วัดป่ากุง

ประวัติและความเป็นมา"พระเจดีย์หินอ่อนวัดป่ากุง อนุสรณ์ "หลวงปู่ศรี"
▪ สิ่งมหัศจรรย์ที่สวยงาม วิจิตรพิสดารล้ำค่าหาที่ใดเสมอเหมือน และนับเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนสถานแห่งใหม่ที่สวยงาม และยิ่งใหญ่ของ "เมืองเกินร้อย" หรือ "เมืองร้อยเอ็ด" นั่นคือ "พระเจดีย์หินอ่อนวัดป่ากุง" อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด

▪ ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ครบรอบ 90 ปี พรรษา 60 พระเทพวิสุทธิมงคล "หลวงปู่ศรี มหาวีโร" พระเกจิอาจารย์ฝ่ายกัมมัฏฐาน ชื่อดังแห่งภาคอีสาน เลียนแบบเจดีย์โบโรบูโด(บรมพุทโธ) ที่เกาะชวา อินโดนีเซีย

▪ สร้างด้วยแรงศรัทธาของคณะศิษยานุศิษย์ เสียสละกำลังกายกำลังทรัพย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสมัครสมานสามัคคี เทิดทูนความดีที่หลวงปู่ศรีได้ประพฤติปฏิบัติ และทำงานแข่งกับเวลาให้สำเร็จเสร็จลงภายใน 2 ปี ซึ่งจัดพิธีสมโภชไปแล้วเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท

▪ งดงามดั่งเทพบันดาล ดูคล้ายเมืองสวรรค์ ทั้ง 7 ชั้นตระการตา ชั้นที่ 1 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำเล่าเรื่องราวซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมี ชั้นที่ 2-3 เป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติพระพุทธเจ้า ชั้นที่ 4 ภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำรูปชัยมงคลคาถา ชั้นที่ 5 ผนังทรงกลมฐานรององค์เจดีย์ เป็นภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน

▪ ชั้นที่ 6 เป็นองค์เจดีย์ราย 8 องค์ และองค์เจดีย์ประธาน 1 องค์ และโดยเฉพาะชั้นที่ 7 ยอดเจดีย์ทองคำ น้ำหนักถึง 101 บาท และภายในองค์เจดีย์ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ที่นำมาจากประเทศอินเดียให้พุทธศานิกชนและนักท่องเที่ยวได้กราบไหว้บูชาขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล

▪ ที่มาของการก่อสร้างเจดีย์หิน คราวเมื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจ จำพรรษาที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ พ.ศ.2531 ได้ไปนมัสการเจดีย์โบโรโดร์(บรมพุทโธ) ที่เกาะชวาอินโดนีเซีย ได้เห็นความใหญ่โตมโหฬารงดงาม

▪ หลวงปู่เกิดความประทับใจมาก เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้นำเรื่องราวที่ได้ไปพบมาเล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟัง และดำริว่าจะสร้างไว้ที่เมืองไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2535 หลวงปู่ได้สั่งให้พระอาจารย์มานะอตุโลนำพระอาจารย์ศักดิ์ชัย อภิวัฒโน และนายอนุวัตร บูรณะกร(เป็ด) เดินทางไปดูรูปแบบเจดีย์โบโรโดร์(บรมพุทโธ) สถาปัตยกรรมชั้นนำ 1 ใน 7 ของโลก ซึ่งออกแบบสร้างสรรค์โดยช่างจากประเทศอินเดีย มีภาพแกะสลักที่แสดงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยพระพุทธองค์และแสดงเหตุการณ์เกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ปางต่างๆ ในอดีตชาติ และภาพแกะสลักนูนสูง นูนต่ำที่แสดงตำนานทางศาสนาอย่างสมบูรณ์แบบด้วยฝีมือที่ประณีตละเอียดอ่อนมาก เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2547

 

แผนที่ การเดินทาง วัดประขาคมวนาราม (วัดป่ากุง)