WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม

ตั้งอยู่ที่บ้านโคกกลาง ตำบลผาน้ำย้อย อำเภอหนองพอก เป็นผาหินขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำไหลซึมตลอดปีอยู่บนภูเขาเขียว แบ่งพรมแดนระหว่างอำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ เป็นป่าไม้เนื้อแข็งนานาชนิด มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ไก่ป่า ผาน้ำย้อยอยู่สูงจากระดับพื้นดิน 200 เมตร และสูงกว่าระดับน้ำทะเล 380-500 เมตร บนเขาลูกนี้มี วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม มีเนื้อที่ 0,500 ไร่ โดยมีพระอาจารย์ศรีมหาวิโร ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัต เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ภายในบริเวณมี พระมหาเจดีย์ชัยมงคล เป็นพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งของประเทศไทย ออกแบบโดยกรมศิลปากร เป็นสีขาวตกแต่งลวดลายตระการตาด้วยสีทองเหลืองอร่าม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็กทั้ง 8 ทิศ มีความกว้าง 101 เมตร ความยาว 101 เมตร ความสูง 101 เมตร สร้างในเนื้อที่ 101 ไร่ เป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และได้ตกแต่งลวดลายงามวิจิตรของศิลปะยุคใหม่และยุคเก่าผสมเป็นศิลปะร่วมสมัย ที่หาดูได้ยาก พระมหาเจดีย์ชัยมงคลนี้ตั้งอยู่ในบริเวณวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วราราม ภายในพระมหาเจดีย์มีทั้งหมด 6 ชั้น คือ 
ชั้นที่ 1 เป็นห้องโถงกว้างใหญ่โออ่า ใช้เป็นห้องเอนกประสงค์ และประชุมบำเพ็ญบุญ 
ชั้นที่ 2 เป็นศาลาประชุมสงฆ์ ผนังติดตั้งรูปพระพุทธประวัติ 
ชั้นที่ 3 เป็นชั้นอุโบสถ และประดิษฐานรูปพระคณาจารย์ปราชญ์อีสานในอดีต เป็นรูป เหมือนสลักหินอ่อน และหุ่นรูปเหมือนพระสุปฏิปันโน 101 องค์ 
ชั้นที่ 4 เป็นชั้นพิพิธภัณฑ์ 
ชั้นที่ 5 บันไดเวียน 119 ชั้น เป็นห้องโถงรูประฆัง 8 เหลี่ยมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุมิ่งมหามงคล 

การเดินทาง ไปตามเส้นทางสายร้อยเอ็ด-อำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก ระยะทาง 80 กิโลเมตร จากตัวเมืองร้อยเอ็ด ตามทางหลวงหมายเลข 2044 และ 2136


พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ

เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามโครงการ การจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองเป็นสถานที่จัดแสดงและรวบรวม เรื่องราวน่ารู้ทุกด้านของจังหวัดแห่งนี้ เดิมทีเดียวนั้น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติร้อยเอ็ด จัดตั้งขึ้นตามดำริของท่านศาสตราจารย์ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ ในอันที่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ฯ ศิลปหัตถกรรมอีสาน โดยเฉพาะผ้าไหมและผ้าพื้นเมือง ต่อมาเมื่อกรมศิลปากร มีนโยบายในการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำเมืองจึงได้ทำการปรับ ปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาในการจัดแสดงให้ครอบคลุมข้อมูลเรื่องราวของจังหวัดทุก ด้านทั้งด้านภูมิศาสตร์ทรัพยากรธรณีโบราณคดี ประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วิถีชีวิต ประเพณี และศิลปหัตถกรรม เริ่มโครงการจัดตั้งมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2536 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารต่อเนื่องมาจนกระทั่งปี 2540 จึงดำเนินการได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ประกอบด้วยงบประมาณด้านการจัดแสดงนิทรรศการถาวร ปรับสภาพภูมิทัศน์ ติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบปรับอากาศ จัดทำห้องประชุมและนิทรรศการพิเศษปรับปรุงบ้านพักเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เฉพาะการจัดแสดงได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้แก่ ระบบสารสนเทศ การทำหุ่นจำลอง และฉากวิถีชีวิตต่าง ๆ เข้ามาประกอบการนำเสนอเรื่องราว ทำให้อาจกล่าวได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งใน ความดูแลของกรมศิลปากร พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ที่ถนนเพลินจิต ตำบลในเมือง อำเภอ เมือง จังหวัดร้อยเอ็ด 45000 

เวลาเปิด-ปิด : เปิดทุกวันเวลา 09.00-16.00 น. เว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 20 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท 


กู่พระโกนา

ตั้งอยู่ที่บ้านกู่ วัดกู่พระโกนา หมู่ 2 ตำบลสระคู การเดินทางจากจังหวัดร้อยเอ็ด เดินทางตามทางหลวงสาย 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าสาย 214 ไปประมาณ 12 กิโลเมตร ถึงกู่พระโกนา ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรจากจังหวัด ปัจจุบันมีวัดสร้างอยู่ในบริเวณเดียวกัน มีถนนเป็นทางแยกเข้าไปทางด้านซ้ายมือ ด้านหน้าเป็นสวนยาง   กู่พระโกนา ประกอบด้วย ปรางค์อิฐ 3 องค์ บนฐานศิลาทราย เรียงจากเหนือ-ใต้ ทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงล้อมและซุ้มประตูเข้า-ออกทั้ง 4 ด้าน ก่อด้วยหินทรายเช่นกัน
ปรางค์องค์กลางถูกดัดแปลงเมื่อ พ.ศ. 2417 โดยการฉาบปูนทับและก่อขึ้นเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นมีซุ้มพระทั้ง 4 ทิศ หน้าปรางค์องค์กลางชั้นล่างสร้างเป็นวิหารพระพุทธบาทประดับเศียรนาค 6 เศียรของเดิมไว้ด้านหน้า ส่วนปรางค์อีก 2 องค์ ก็ได้รับการบูรณะจากทางวัดเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับเปลี่ยนรูปทรงอย่างปรางค์องค์กลาง ปรางค์องค์ทิศเหนือทางวัดสร้างศาลาครอบ ภายในมีหน้าบันสลักเรื่องรามายณะ และทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมสินธุ์ติดอยู่ที่เดิม คือเหนือประตูทางด้านหน้า ส่วนทับหลังประตูด้านทิศตะวันตกหล่นอยู่บนพื้นเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ปรางค์องค์ทิศใต้ยังคงมีทับหลังของเดิมเหนือประตูหลอกด้านทิศเหนือเป็นภาพ เทวดานั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้วเหนือหน้ากาล นอกจากนี้ทางด้านหน้ายังมีทับหลังหล่นอยู่ที่พื้น เป็นภาพพระอิศวรประทับนั่งบนหลังโค และมีเสานางเรียงวางอยู่ด้วย สันนิษฐานว่า กู่พระโกนาเดิมจะมีสะพานนาคและทางเดินประดับเสานางเรียงทอดต่อไปจากซุ้ม ประตูหน้าไปยังสระน้ำ หรือบารายซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 300  เมตร จากรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมทั้งหมดของภาพสลัก และเสากรอบประตู ซึ่งเป็นศิลปะขอมที่มีอายุในราว พ.ศ. 1560-1630 (แบบบาปวน) สันนิษฐานว่ากู่พระโกนาคงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่16
การเดินทาง อยู่ห่างจากอำเภอเมือง 60 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 215 ผ่านอำเภอเมืองสรวง อำเภอสุวรรณภูมิ จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 214 ไปประมาณ 12  กิโลเมตร ถึงกู่พระโกนา  อยู่ทางซ้ายมือ ด้านหน้าทางเข้าจะเป็นสวนยาง บริเวณวัดมีลิงแสมอาศัยอยู่


สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์

ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านตากแดด ตำบลหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ ลักษณะทางศิลปกรรม เป็นสิมแบบพื้นเมืองอีสาน ประเภทสิมทึบ มีกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ล้อมรอบหน้าบันและรังผึ้งของสิมมีลายแกะสลักสวยงามภายในมีจิตรกรรมหรือ ฮูปแต้ม แสดงเรื่องในพุทธศาสนา สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้านนอกสิมมีพระพุทธรูปแบบอีสานขนาดใหญ่ ซึ่งย้ายมาจากวัดใต้วิไลธรรม ในเขตอำเภอเดียวกัน (สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรเมื่อ พ.ศ.2541 และได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามประจำปี 2541 
การเดินทาง จากอำเภอเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 214 เข้าทางหลวงหมายเลข 215 ถึงอำเภอสุวรรณภูมิ เลี้ยวเข้าซอยข้างอำเภอตรงไปประมาณ 5 กิโลเมตร


ปรางค์กู่ หรือ ปราสาทหนองกู่

ตั้งอยู่ที่บ้านยางกู่ ตำบลมะอี การเดินทางจากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (ร้อยเอ็ด-ยโสธร) ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอธวัชบุรี ฝั่งตรงข้ามมีทางแยกซ้ายไปปรางค์กู่ ระยะทาง 6 กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 2044 (ร้อยเอ็ด-โพนทอง) ไปประมาณ 8 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปปรางค์กู่อีก 1 กิโลเมตร

     ปรางค์กู่ คือ กลุ่มอาคารที่มีลักษณะแบบเดียวกันกับอาคารที่เชื่อกันว่า คืออโรคยาศาลตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทตาพรหมอันประกอบด้วย ปรางค์ประธาน บรรณาลัย กำแพงพร้อมซุ้มประตูและสระน้ำนอกกำแพง โดยทั่วไปนับว่าคงสภาพเดิมพอควร โดยเฉพาะปรางค์ประธานชั้นหลังคาคงเหลือ 3 ชั้น และมีฐานบัวยอดปรางค์อยู่ตอนบน อาคารอื่นๆ แม้หักพังแต่ทางวัดก็ได้จัดบริเวณให้ดูร่มรื่นสะอาดตา     นอกจากนี้ภายในกำแพงด้านหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังพบโบราณวัตถุอีกหลาย ชิ้นวางเก็บรักษาไว้ใต้อาคารไม้ ได้แก่ทับหลังหินทราย สลักเป็นภาพบุคคลนั่งบนหลังช้างหรือวัว ภายในซุ้มเรือนแก้วหน้ากาล จากการสอบถามเจ้าอาวาสวัดศรีรัตนาราม กล่าวว่าเป็นทับหลังหน้าประตูมุขของปรางค์ประธาน เสากรอบประตู 2 ชิ้น ชิ้นหนึ่งมีภาพสลักรูปฤาษีที่โคนเสาศิวลึงค์ขนาดใหญ่พร้อมฐานที่ได้จากทุ่ง นาด้านนอกออกไป และชิ้นส่วนบัวยอดปรางค์ ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นฐานของพระสังกัจจายน์ปูนปั้น กำหนดอายุว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18 

การเดินทาง จากตัวเมืองใช้ทางหลวงหมายเลข 23  (ร้อยเอ็ด-ยโสธร) ประมาณ 10 กิโลเมตร ถึงที่ว่าการอำเภอธวัชบุรี ฝั่งตรงข้ามมีทางแยกซ้ายไปปรางค์กู่ ระยะทาง 6  กิโลเมตร หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 2044 (ร้อยเอ็ด-โพนทอง) ไปประมาณ 8 กิโลเมตร มีทางแยกขวาไปปรางค์กู่อีก 1 กิโลเมตร


กู่กาสิงห์
ตั้งอยู่ในวัดบูรพากู่กาสิงห์ ตำบลกู่กาสิงห์ สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ ใช้เส้นทางร้อยเอ็ด-เกษตรวิสัย ทางหลวงหมายเลข 214 ระยะทาง 47 กิโลเมตร เดินทางต่อไปตามทางหลวงสายเกษตรวิสัย-สุวรรณภูมิ ประมาณ 10 กิโลเมตร มีทางแยกขวากู่กาสิงห์เป็นระยะทางอีก 10 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางสายร้อยเอ็ด-สุวรรณภูมิ-สุรินทร์ (ทางหลวงหมายเลข 215 ต่อด้วย 214) ระยะทาง 60 กิโลเมตร ถึงวัดกู่พระโกนา ด้านตรงข้ามวัดมีทางแยกไปกู่กาสิงห์ ระยะทางอีก 18 กิโลเมตร

สิมวัดจักรวาลภูมิพินิจ (วัดหนองหมื่นถ่าน)
ตั้ง อยู่ที่หมู่บ้านหนองหมื่นถ่าน ตำบลหนองหมื่นถ่าน มีลักษณะทางศิลปกรรมเป็นสิมแบบพื้นเมืองอีสาน ประเภทสิมทึบ หน้าบันหรือรังผึ้งมีลวดลายแกะสลักไม้ ภายนอกมี “ฮูปแต้ม” เป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ภาพขุมนรก และภาพพระพุทธองค์ ขณะปลงพระเกศา มีพระอินทร์มารับนำไปประดิษฐานยังเจดีย์จุฬามณี ภายในมีภาพวรรณคดีพื้นเมืองเรื่องสังข์ศิลป์ชัย สันนิษฐานว่ามีอายุในราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 
การเดินทาง จากอำเภอเมือง เดินทางตามทางหลวงหมายเลข 2043 ถึงอำเภออาจสามารถ และเดินทางต่อไปอีก 10 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางบ้านหนองหมื่นถ่าน 2 กิโลเมตร

บึงเกลือ (ทะเลอีสาน)
อยู่ในเขตตำบลบึงเกลือ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ 7,500 ไร่ ในบึงน้ำแห่งนี้มีน้ำขังตลอดปี ริมบึงมีหาดทรายขาวสะอาดกว้างขวาง มีแพร้านอาหารบริการอาหารอีสานและอาหารตามสั่ง นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนและเล่นกีฬาทางน้ำ 

การเดินทาง จากอำเภอเมือง ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านอำเภอธวัชบุรี ถึงอำเภอเสลภูมิเข้าทางหลวงหมายเลข 2259 ประมาณ 10 กิโลเมตร และเลี้ยวเข้าซอย 8 กิโลเมตร
 
วัดป่าโนนสวรรค์  

ตั้งอยู่บ้านเทอดไทย ตำบลเทอดไทย เป็นวัดขนาดใหญ่สร้างมาจากนิมิตของเจ้าอาวาส โดยใช้หม้อดินของชาวบ้านมาประดับตกแต่งจึงดูสวยงามแปลกตา เจดีย์ประธานหลายชั้นทางเข้าจะเป็นปากหนุมานแต่ละชั้นจะมีจิตรกรรมฝาผนัง เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ซุ้มประตูวัดมีเต่ายักษ์ 2 ตัว ดูคล้ายศิลปะทางขอมและอินเดีย การเดินทาง  ตามเส้นทางร้อยเอ็ด-ธวัชบุรี-เสลภูมิ (ทางหลวงหมายเลข 23) กิโลเมตรที่ 139-140 เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 7 กิโลเมตร  ห่างจากตัวเมืองร้อยเอ็ดประมาณ 18 กิโลเมตร


วัดบูรพาภิราม

ตั้งอยู่ที่ถนนผดุงพานิช ตำบลในเมือง ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ใครที่มาถึงตัวเมืองร้อยเอ็ดคงได้พบกับภาพที่น่าตื่นตาขององค์พระเจ้าใหญ่ หรือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี ประทับยืนเด่นเป็นสง่ามองเห็นได้จากระยะไกล องค์พระเจ้าใหญ่นั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบูรพาภิรามในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด อันเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวร้อยเอ็ด ซึ่งแสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอันแรงกล้าของชาวเมืองที่ได้สร้างพระ พุทธรูปปางประทานพรที่กล่าวกันว่าสูงที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้องค์พระเจ้าใหญ่ยังเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด และปรากฎอยู่ในคำขวัญของเมืองร้อยเอ็ดว่า "สิบเอ็ดประตูงาม เรืองนามพระสูงใหญ่ ผ้าไหมสาเกตุ บุญผะเหวดประเพณี มหาเจดีย์ไชยมงคล งามน่ายลบึงพระลานชัย เขตกว้างไกลทุ่งกุลา โลกลือชาข้าวหอมมะลิ"


สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด์  

ตั้งอยู่ที่ถนนสุนทรเทพ (หน้าวัดบึงพระลานชัย) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เป็นอาคาร 2 อาคารเชื่อมต่อกัน อาคารแรกประกอบด้วยห้องโถง ห้องบรรยาย ห้องนิทรรศการ สำนักงาน ห้องจำหน่ายบัตรและของที่ระลึก ส่วนอาคารที่ 2 เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างเป็นส่วนแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ บางชนิดเกือบจะสูญพันธุ์หรือเป็นพันธุ์ที่หายาก ประกอบด้วยตู้ปลาขนาดเล้กที่ฝังอยู่ในผนังรอบๆอาคาร จำนวน 24 ตู้ กลางอาคารเป็นตู้ปลาขนาดใหญ่ 1 ตู้ กว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร มีอุโมงค์แก้ว ผ่านกลางตู้สำหรับให้ผู้เข้าชมเดินชมได้อย่างใกล้ชิด ชั้นบนของอาคารเป็นบ่อพักน้ำ ถังกรองน้ำ บ่อพักและสำรองพันธุ์สัตว์น้ำไว้สำหรับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกับตู้แสดงพันธุ์ สัตว์น้ำที่ป่วยด้านนอกของตัวอาคารจะมีการจัดภูมิทัศน์ให้เหมาะสมแก่ตัว อาคาร โดยจัดเป็นสวนหย่อมและปลูกไม้ดอกไม้ประดับโดยรอบของตัวอาคารพร้อมทั้งจัดให้ มีลานจอดรถสำหรับผู้เข้าชมอีก 2 จุด สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดนี้เปิดทุกวันเว้นวันจันทร์ อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 4351 1286


วัดสระทอง  

ตั้งอยู่ในตัวเมือง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระสังกัจจายน์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ชาวร้อยเอ็ดเคารพสักการะสร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ เมื่อปี พ.ศ. 2325 พระยาขัตติยะวงษา (ท้าวธน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก ได้พบพระองค์นี้เห็นว่ามีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์มาก จึงได้นำมาประดิษฐานที่วัดสระทองและยกให้เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ในอดีตข้าราชการทุกคนต้องมาสาบานตนต่อหน้าหลวงพ่อว่าจะซื่อสัตย์ต่อบ้าน เมืองเป็นประจำทุกปี


วัดประชาคมวนาราม หรือวัดป่ากุง
วัดประชาคมวนาราม หรือวัดป่ากุง ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ วัดนี้มีชื่อทางการว่า วัดประชาคมวนาราม สร้างโดยหลวงปู่ศรี มหาวีโร มีเจดีย์ขนาดใหญ่ทำจากหินทรายธรรมชาติเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เหตุที่หลวงปู่ศรี ท่านมีดำริให้สร้างพระเจดีย์หิน เนื่องจากเมื่อพ.ศ. 2531 หลวงปู่ได้ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ มหาเจดีย์บุโรพุทโธ หรือ โบโรบูโดร์ และได้ประทับใจในความยิ่งใหญ่อลังการของมหาเจดีย์แห่งนี้ จึงได้เล่าให้คณะศิษย์ฟัง ต่อมาใน ปี พ.ศ 2535 การก่อสร้างจึงเริ่มขึ้น จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 มีพิธียกยอดเจดีย์ทองคำแท้หนัก 101 ขึ้นประดิษฐาน ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุอยู่จุดศูนย์กลางของเจดีย์ ผนังแกะสลักเรื่องราวพระพุทธประวัติและเวสสันดรชาดก รวมทั้งประวัติของหลวงปู่ศรีและรูปบูรพาจารย์

บ่อพันขันรัตนโสภณ  
ตั้งอยู่ในเขตวัดบ่อพันขันรัตนโสภณ อำเภอหนองฮี เป็นอุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ 50 ปี และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสหัสขันธมหามุนีนาถซึ่งมีความสวยงามเป็นที่เคารพ บูชาของชาวร้อยเอ็ด การเดินทาง ตามเส้นทางร้อยเอ็ด-พนมไพร กิ่งอำเภอหนองฮี สู่ตำบลเด่นราษฎร์ ห่างจากเมืองร้อยเอ็ดประมาณ 85 กิโลเมตร

สวนสาธารณะพุทธประวัติเวสสันดรชาดก  
ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ถนนรอบเมือง ตำบลรอบเมือง (อยู่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลรอบเมือง) ภายในสวนมีรูปปั้นพระเวสสันดรชาดกทั้งหมด 13 กัณฑ์ ได้แก่ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนประเวศ กัณฑ์ชูชก 
เป็นต้น ตั้งไว้เป็นระยะรอบบึง แต่ละจุดมีคำบรรยายประกอบ รถยนต์สามารถวิ่งผ่านได้
การเดินทาง  จากถนนรอบเมืองออกมาประมาณ 1 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวา ไป 250 เมตร มาทางบ้านเปือย

บึงพลาญชัย  

ตั้งอยู่บริเวณกลางเมืองร้อยเอ็ด ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด มีลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตกแต่งเป็นสวนไม้ดอกขนาดใหญ่ มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ร่มรื่น และในบึงน้ำมีปลาชนิดต่างๆ หลายพันธุ์มากมาย มีเรือสำหรับให้ประชาชนได้พายเล่นในบึง นอกจากนั้นยังใช้เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลของจังหวัด รวมทั้งจัดมหรสพต่างๆ ภายในบึงพลาญชัยยังมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ 
ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เป็นที่เคารพบูชาของชาวร้อยเอ็ด
พระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่ กลางสวนดอกไม้
พานรัฐธรรมนูญ และนาฬิกาดอกไม้
ภูพลาญชัย มีลักษณะเป็นสวนสัตว์และน้ำตกจำลอง 
สนามเด็กเล่น นกชนิดต่าง ๆ สวนสุขภาพ เป็นสวนออกกำลังกาย เพื่อให้ประชาชนได้ออกกำลังกาย อันเป็นการเสริมสร้างพลานามัยแก่ชาวร้อยเอ็ด


เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์  

ตั้ง อยู่ในพื้นที่อำเภอหนองพอก ครอบคุมดูแลพื้นที่ประมาณ 151,242 ไร่ หรือประมาณ 242 ตารางกิโลเมตร โดยสภาพพื้นที่จะเป็นเทือกเขาหินทรายสูงชันและสลับซับซ้อน ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าที่พบในพื้นที่ป่าแห่งนี้ ได้แก่ ไก่ฟ้าพญาลอ หมูป่า สุนัขจิ้งจอก เป็นต้น จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจในบริเวณเขตห้ามล่าฯ คือ ผาพยอม ซึ่งเป็นจุดที่ใช้สำหรับชมพระอาทิตย์ขึ้น และผาน้ำทิพย์ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ชมพระอาทิตย์ตกดิน
นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ 2 เส้นทาง ระยะทาง 2 กิโลเมตร และ 3 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินเองได้  บริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาน้ำทิพย์ มีบริการบ้านพักและสถานที่สำหรับกางเต็นท์ หากต้องการเข้าพักเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำทางต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าไปยังหัวหน้าสวนพฤกษ ศาสตร์และวรรณคดีตะวันออกเฉียงเหนือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์  ตู้ ปณ.1  ตำบลบึงงาม อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด 45210  สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 9551 1782
การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ถึงขอนแก่น ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 จากขอนแก่น-หนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ใช้ทางหลวงหมายเลข 2 จากอำเภอหนองพอกถึงบ้านท่าสะอาด ระยะทาง 9  กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายจากบ้านท่าสะอาดถึงสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าผาน้ำทิพย์ 13 กิโลเมตร


ทุ่งกุลาร้องไห้  

เป็นทุ่งกว้างใหญ่ของภาคอีสาน มีอาณาเขตครอบคลุมถึง 5 จังหวัด คือ ในแนวทิศเหนือนั้นครอบคลุมอำเภอปทุมรัตต์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ และอำเภอโพนทราย ของจังหวัดร้อยเอ็ด ในแนวทิศใต้มีลำน้ำมูลทอดยาวตลอดพื้นที่อำเภอชุมพลบุรี อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ในแนวทิศตะวันตกผ่านอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร และอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ประมาณ 3 ใน 5 นั้นอยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด ทุ่งกุลาร้องไห้มีเนื้อที่กว้าง 2,107,681 ไร่

สาเหตุที่ทุ่งกว้างแห่งนี้ได้ชื่อว่าทุ่งกุลา ร้องไห้นั้น ก็ด้วยมีเรื่องเล่ากันว่า พวกกุลาซึ่งเป็นพวกที่เดินทางค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ ในสมัยโบราณได้ชื่อว่าเป็นนักต่อสู้ คือ มีความเข้มแข็งอดทนเป็นเยี่ยม แต่เมื่อพวกกุลาเดินทางมาถึงทุ่งนี้ ได้รับความทุกข์ยากเป็นอันมากถึงกับร้องไห้ เพราะตลอดทุ่งนี้ไม่มีน้ำหรือต้นไม้ใหญ่เลย ฤดูแล้งแผ่นดินก็แห้งแตกระแหง ปัจจุบันท้องทุ่งอันกว้างใหญ่นี้ได้รับการพัฒนาจากส่วนราชการและหน่วยงาน ต่างๆ บางแห่งก็ทำการเกษตรกรรม บางแห่งก็ใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนับแต่จะมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นเรื่อย ๆ ศูนย์พัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ห่างจากที่ว่าการอำเภอสุวรรณภูมิ 6 กิโลเมตร เลยกู่พระโกนาไปเล็กน้อย ตรงข้ามกับโรงเรียนโสภาพิทยาภรณ์


แหลมพยอม  

เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ อยู่บริเวณทิศตะวันออกของบึงโพนทอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำกว้างใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอโพนทองไปทางทิศตะวันออก (ถนนสายอำเภอโพนทอง-อำเภอหนองพอก) ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร


อนุสาวรีย์พระขัติยะวงษา (ทน)
ตั้งอยู่กลางวงเวียนห้าแยกสายน้ำผึ้งใกล้วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด อำเภอเมืองร้อยเอ็ด พระขัติยะวงษา (ทน) เป็นบุตรท้าวจารย์แก้ว ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2318 ในรัชสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นผู้นำในการสร้างบ้านแปงเมือง โดยอพยพผู้คนจากเมืองท่งมาตั้งรกรากที่เมืองกุ่มร้าง หรือเมืองร้อยเอ็ด ถือได้ว่าท่านเป็นผู้มีความสามารถในการปกครอง ได้รวบรวมผู้คนบูรณะฟื้นฟูและทะนุบำรุงเมืองร้อยเอ็ดจนเป็นปึกแผ่นเจริญ รุ่งเรืองในที่สุด

วัดกลางมิ่งเมือง  

ตั้งอยู่บนถนนเจริญพาณิชย์ เป็นวัดเก่าแก่สันนิษฐานว่าสร้างก่อนตั้งเมืองร้อยเอ็ด ส่วนอุโบสถสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือ น้ำพิพัฒน์สัตยา ปัจจุบันเป็นสถานที่ศึกษาปริยัติธรรม และสถานที่สอบธรรมสถาน ชื่อโรงเรียนสุนทรธรรมปริยัติ บริเวณผนังรอบพระอุโบสถมีภาพวาดจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธประวัติ สวยงามและมีค่าทางศิลปะ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0 4351 2400