วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร

"วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร"

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดสระเกศ) อยู่ริมคลองมหานาคและคลองรอบกรุง ใกล้สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เป็นวัดโบราญในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา

เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนานเมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๓๒๕ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ที่สำคัญคือ พระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ซึ่งทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พระเจดีย์บนยอดพระบรมบรรพตเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมาแต่ครั้งนั้น    ในส่วนของพระอาราม มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ๆ เช่น พระอุโบสถซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ภายในมีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งเขียนในสมัย รัชกาลที่ ๓ แต่ชำรุดจึงมีการลบเขียนใหม่ใน รัชกาลที่ ๗ เป็นภาพทศชาติ ภาพมารผจญและภาพไตรภูมิ รอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาตั้งประจำทั้ง ๘ ทิศ ซุ้มเสมาที่วัดสระเกศเป็นทรงกูบช้างหรือซุ้มหน้านางประดับกระเบื้องงดงามถือเป็นแบบอย่างทางศิลปะ    นอกจากนี้ยังมีหอไตร สมัยรัชกาลที่ ๑ บูรณะในสมัยรัชกาลที่ ๓ เดิมอยู่กลางสระน้ำ สร้างด้วยไม้เฉลียงรอบ บานประตูหน้าต่างแกะสลักอย่างสวยงาม

พระประธาน 
พระประธานในพระอุโบสถ วัดสระเกศ 

ลักษณะของพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธรูปปั้นปิดทองปางสมาธิที่ใหญ่โต พร้อมด้วยความงามสมพุทธลักษณะองค์หนึ่งในกรุงเทพพระมหานคร ฝีมือปั้นเข้าใจว่าคงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่ค่อยพบมากนักในงานช่างไทย ลักษณะโดยรวมแล้วใกล้เคียงกับพระพุทธรูปในสมัยอยุธยา จึงแสดงให้เห็นงานที่สืบต่อมาจากสมัยก่อน ตรงตามประวัติที่กล่าวว่ารัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพอกทับพระประธานองค์เดิม ลักษณะดังกล่าวเป็นงานช่างในสมัยนี้ซึ่งต่างจากงานช่างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่จะมีพระพักตร์อย่างหุ่นอันเป็นลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในภายหลัง ลักษณะของพระพุทธรูปประธานมีพระพักตร์ค่อนข้างสี่เหลี่ยมแบบอยุธยา ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวสูง พระโอษฐ์กว้างแบบอยุธยา ลักษณะชายสังฆาฏิที่ซ้อนทับกันแบบเดียวกับพระพุทธรูปอยุธยาตอนปลายในสมัยของ พระเจ้าปราสาททอง มีส่วนที่แตกต่างคือ ในสมัยรัตนโกสินทร์นิยมทำสังฆาฏิพาดกึ่งกลางพระวรกาย ในขณะที่พระพุทธรูปสมัยอื่นๆ นั้นชายสังฆาฏิจะอยู่ทางเบื้องซ้าย 

https://www.facebook.com/pg/watsraket/

  ที่อยู่ติดต่อ

   344 ถนน บริพัตร แขวง บ้านบาตร เขต ป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร 10100

แผนที่

  ค้นหาข้อมูล

วัดโพธิ์

ช่างชุ่ย

วัดบวรนิเวศฯ

ตลาดน้ำคลองลัดมะยม

ตลาดน้ำขวัญ-เรียม

ตลาดน้ำตลิ่งชัน