WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

อนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน และอุทยานค่ายบางระจัน

อยู่ห่างจากตัวเมือง 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3032 มีพื้นที่ประมาณ 115 ไร่ เป็นสวนรุกขชาติพักผ่อนหย่อนใจ จะเห็นอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันเป็นรูปหล่อประติมากรรมของหัวหน้าชาวค่าย บางระจันทั้ง 11 คน สร้างโดยกรมศิลปากรปรากฏสวยเด่นเป็นสง่าอยู่ในสวน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวรัชกาลปัจจุบันทรงเปิดอนุสาวรีย์นี้เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 ค่ายบางระจันมีความสำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ ผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้บันทึกเหตุการณ์ความกล้าหาญและเสียสละของวีรชนไทยที่ เกิดขึ้น เมื่อเดือน 3 ปีระกา พ.ศ. 2308 ในครั้งนั้นชาวบ้านบางระจันได้รวมพลังกันต่อสู้กับกองทัพพม่าซึ่งมีจำนวนมาก มายมหาศาล โดยพม่าต้องยกทัพเข้าตีหมู่บ้านนี้ถึง 8 ครั้ง ใช้เวลา 5 เดือน จึงเอาชนะได้เมื่อวันจันทร์แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีจอ พ.ศ. 2309 นับเป็นอนุสาวรีย์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง ค่ายบางระจันในปัจจุบันได้สร้างจำลองโดยอาศัยรูปแบบค่ายในสมัยโบราณ และภายในบริเวณยังมี อาคารศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์วีรชนค่ายบางระจัน จัดห้องนิทรรศการโดยแบ่งออกเป็นห้องต่าง ๆ ห้องแรก แสดงเรื่องค่ายบางระจัน เครื่องใช้โบราณ แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย หนังใหญ่ ห้องที่สอง จัดแสดงมรดกเมืองสิงห์บุรี ห้องที่สาม แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเมืองสิงห์บุรีและของดีเมืองสิงห์บุรี เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3659 7126 

การเดินทาง  โดยรถประจำทาง สามารถขึ้นรถที่ บขส. ในอำเภอเมืองสิงห์บุรี สายสุพรรณบุรี-สิงห์บุรี มาลงที่อนุสาวรีย์วีรชนฯ


วัดพิกุลทอง

อยู่ในเขตตำบลวิหารขาว ห่างจากตัวเมืองประมาณ 16 กิโลเมตร อยู่ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์  วรวิหารไปประมาณ 9 กิโลเมตร ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่อแพ (พระเทพสิงหบุราจารย์) ภายในวัดมี พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อแพ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและเครื่องอัฐบริขารของหลวงพ่อแพตั้งแต่ อดีตถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นอีกด้านหนึ่งของวัดนี้มีพระพุทธรูปปางประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดใน ประเทศไทย คือ พระพุทธสุวรรณมงคลมหามุนี หรือหลวงพ่อใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา 2 ศอก 7 นิ้ว สูง 21 วา 1 คืบ 3 นิ้ว ภายในเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กประดับด้วยโมเสกทองคำธรรมชาติชนิด 24 เค รอบ ๆ พระวิหารใหญ่มีวิหารคต ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันต่าง ๆ และพระสังกัจจายองค์ใหญ่ และบริเวณวัดยังมีสวนธรรมะ และสิ่งก่อสร้างที่สวยงามน่าสนใจ แวดล้อมด้วยบรรยากาศสงบร่มรื่น

การเดินทาง  ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3032 กิโลเมตรที่ 7-8 จะเห็นป้ายบอกทางไปวัดพิกุลทอง ไปตามถนนสาย 3008 ประมาณ 8 กิโลเมตร


วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ในตำบลจักรสีห์ สันนิษฐานว่าวัดนี้สร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวิหารเป็นทีประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะแบบสุโขทัยที่มีความงดงามมาก มีความยาว 47 เมตร 42 เซนติเมตร (1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว) ลักษณะพระพักตร์ หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก  นอกจากนี้ยังมี พระกาฬ เป็นพระพุทธรูปศิลาลงรักปิด ทอง และพระแก้ว พระหล่อนั่งขัด   สมาธิเพชรอันศักดิ์สิทธิ์และมีพระพุทธลักษณะงดงาม ทั้งพระกาฬและพระแก้วสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้เป็นพระประทานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการ ด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ต้นไม้สำคัญในพระพุทธศาสนาผลิดอกบานสะพรั่ง หลายต้น ทางวัดยังมีการอบรมธรรมะและวิปัสสนาในวันที่ 4-10 ของทุกเดือน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3652 0251, 0 3654 3415  
นอกจากนั้นทางวัดยังมีบริการรถรางพาชมสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณวัด เช่น วัดหน้าพระธาตุ วังมัจฉา ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม ในวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 น.  

การเดินทาง รถยนต์ อยู่ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี (ทางหลวงหมายเลข 3032) ประมาณ 4 กิโลเมตร รถประจำทาง  มีรถสาย 648 สิงห์บุรี-บ้านดอนปรู, รถสาย 462 สุพรรณบุรี-โคกสำโรง และรถสองแถว ขึ้นที่ บขส.ในอำเภอเมืองสิงห์บุรี ผ่านหน้าวัด

วัดหน้าพระธาตุ

อยู่ในเขตบ้านพระนอนจักรสีห์ ตำบลจักรสีห์ ห่างจากวัดพระนอนจักรสีห์ไปประมาณ 1.5 กิโลเมตร เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า วัดหัวเมือง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดหน้าพระธาตุ  สันนิษฐานว่าสถานที่บริเวณนี้จะเป็นที่ตั้งของเมืองสิงห์บุรีเก่า สิ่งที่สำคัญของวัดนี้ คือ องค์พระปรางค์สูงประมาณ 8 วา ทำเป็นรูปครุฑ อสูรถือกระบองประดับอยู่เหนือชั้นเชิงบาตร ภายหลังมีการเสริมแต่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยการก่ออิฐเพิ่มเติมเป็นซุ้มจรนัมทั้งสี่ด้าน ตั้งแต่ฐานศิลาแลงขึ้นไปก่อด้วยอิฐย่อมุมทรงปรางค์ กลีบขนุนปรางค์ก่อด้วยอิฐ ทิศตะวันออกขององค์ปรางค์มีพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ และมีเจดีย์กลมเรียงรายหลายองค์ เป็นลักษณะของสถาปัตยกรรมแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 

การเดินทาง รถยนต์ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3032 เส้นสิงห์บุรี-สุพรรณบุรี กิโลเมตรที่ 4 แล้วเข้าซอยเรือนจำจังหวัดสิงห์บุรี แยกจากปากทางเข้ามาประมาณ 1 กิโลเมตร รถประจำทาง  มีรถประจำทางผ่านเส้นทางเดียวกับวัดพระนอนจักรสีห์


วัดพระปรางค์มุนี
ตั้งอยู่ที่ตำบลม่วงหมู่ ตรงข้ามวิทยาลัยเกษตรกรรมสิงห์บุรี ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ประมาณกิโลเมตรที่ 134-135 (ทางไปอำเภอพรหมบุรี) จะเห็นองค์พระปรางค์สี่เหลี่ยมสูงเด่น ใกล้กับองค์พระปรางค์เป็น วิหารหลวงพ่อเย็น พระพุทธรูปปูนปั้นศักดิ์สิทธิ์สมัยอยุธยา ด้านข้างวิหารมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นกรุพระเก่าแก่ที่ทางวัดได้ขุดดินบริเวณนั้นมากลบวิหาร ภายในโบสถ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือชาวบ้านเขียนโดย นายเพ็ง คนลาว เมื่อราวปี พ.ศ. 2462 แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับนรก สวรรค์  แต่ยังคงความงดงามไม่แพ้ที่อื่น

วัดอัมพวัน

ตั้งอยู่ที่ตำบลพรหมบุรี ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 36 กิโลเมตรที่ 130 เป็นวัดที่มีชื่อเสียงในด้านการปฏิบัติธรรมทางวิปัสสนากรรมฐาน มีพระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ  ฐิตธมโม) เป็นเจ้าอาวาส  การเดินทาง  รถประจำทาง จากกรุงเทพฯ นั่งรถสายกรุงเทพฯ-สิงห์บุรี หรือกรุงเทพฯ-อำเภอวัดสิงห์ มาลงที่ปากทางเข้าหน้าวัดอัมพวันแล้วต่อรถจักรยานยนต์รับจ้างเข้ามายังวัด หรือหากมาจากอำเภอเมืองสิงห์บุรี สามารถขึ้นรถสองแถวสายสิงห์บุรี-วัดตราชู ที่ บขส. ในตัวเมือง มาลงที่หน้าวัด


ศาลจังหวัดและศาลากลางจังหวัดสิงห์บุรี  

ตั้งอยู่บนถนนวิไลจิตต์ ตำบลในเมือง ในเขตเทศบาลอำเภอเมืองสิงห์บุรี ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ศาลจังหวัดสร้างขึ้นเมื่อปี ร.ศ. 129 (พ.ศ. 2453) และศาลากลางจังหวัดสร้างขึ้นเมื่อปี ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นตึกก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวทรงยุโรป มีความสวยงามและมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมมาก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2533


แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย
ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระปรางค์ (ชัณสูตร) เป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ที่สุดในสมัยกรุงศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 1914-2310 ลักษณะตัวเตาเป็นแบบระบายความร้อนเฉียงขึ้น ก่อด้วยอิฐ ตัวเตาบางส่วนคล้ายเรือประทุนจึงเรียก “เตาประทุน” แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ปล่องไฟ ห้องวางเครื่องปั้นดินเผา และห้องเชื้อเพลิง ตัวเตาเผาที่นับว่ามีขนาดใหญ่ มีความยาวถึง 14 เมตร กว้าง 5.60 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางของปล่องควันไฟยาว 2.15 เมตร เคยใช้เป็นที่ผลิตภาชนะดินเผา เช่น ไห อ่าง ครก กระปุก ช่อฟ้า กระเบื้องปูพื้น เป็นต้น ตัวอย่างเครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ ที่ขุดได้บริเวณแหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย สามารถชมได้ในกุฏิของท่านเจ้าอาวาส แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแหล่งหนึ่ง แล้ว ยังเป็นศูนย์ศึกษาทางวิชาการเซรามิคอันยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย  การเดินทางไปตามเส้นทางสายสิงห์บุรี-บางระจัน-สรรคบุรี เส้นทางหลวงหมายเลข 3251 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร ห่างจากตลาดชัณสูตรประมาณ 1 กิโลเมตร และมีรถประจำทางผ่านสาย 605 เส้นสิงห์บุรี-สรรคบุรีี

วัดประโชติการาม 
ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกระบือ อยู่ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีประมาณ 5 กิโลเมตร เส้นทางหลวงหมายเลข 311 เส้นสิงห์บุรี–ชัยนาท (สายเก่า) ไปประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ พุทธลักษณะงดงาม ศิลปะแบบสุโขทัยขนาดใหญ่ 2 องค์ คือ หลวงพ่อทรัพย์ สูง 6 วา 7 นิ้ว และหลวงพ่อสิน สูง 3 วา 3 ศอก 5 นิ้ว ซึ่งมีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป

วัดโบสถ์

ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทร์บุรี ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 311 เส้นสิงห์บุรี-อินทร์บุรี (สายเก่า) กิโลเมตรที่ 14-15 ไปประมาณ 16 กิโลเมตร เป็นพระอารามหลวง เดิมเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระอุโบสถเป็นเพียงแห่งเดียวที่สร้างโดยใช้รางรถไฟเป็นแกนกลาง ข้างล่าง และที่น่าสนใจคือการแกะสลักบานประตูหน้าต่างโบสถ์ทั้งหลัง โดยช่างที่มีฝีมือแกะสลักของเมืองสิงห์บุรี คือ ช่างชื่น  หัตถโกศล ภายในโบสถ์มีพระประธานที่เก่าแก่ พุทธลักษณะที่งดงามมาก ปัจจุบันโบสถ์แห่งนี้ได้รับการบูรณะใหม่


วัดม่วง
ตั้งอยู่ที่ตำบลอินทร์บุรี ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หากมาจากถนนสายเอเชีย ห่างจากตัวตลาดอินทร์บุรีมีทางเลี้ยวซ้ายไปประมาณ 2.5 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นประมาณปี พ.ศ. 2365 เดิมนั้นมีต้นมะม่วงอยู่มากจึงเรียกว่า “วัดม่วง”  ภายในวัดมีวิหารเก่าแก่เป็นอาคารปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขยื่นออกมา ที่หน้าบันประดับด้วยภาชนะเครื่องถ้วยต่าง ๆ ในวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นพระประธานที่พุทธลักษณะงดงาม ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีรูปฐานสิงห์ มีฐานบัวขนาดใหญ่รองรับ เพดานประดับด้วยลายเขียนรูปดาว มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยสีฝุ่น ฝีมือช่างพื้นบ้านสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และมีเรื่องราวพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า ตลอดจนแสดงภาพชีวิตความเป็นอยู่วัฒนธรรมของสังคมโบราณในระดับต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

วัดกุฎีทอง

ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ในเขตตำบลบางน้ำเชี่ยว ห่างจากตัวเมืองสิงห์บุรีประมาณ 400 เมตร หรือเส้นทางหลวงหมายเลข 32 กิโลเมตรที่ 125-126 ภายในวัดมีมณฑปลักษณะเหมือนเจดีย์ ย่อมุมไม้สิบสอง สร้างเมื่อ พ.ศ. 2443 โดยหลวงพ่อปัญญา อุตมะพิชัย เจ้าอาวาส ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอดและภายในมณฑปนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระ พุทธบาทโลหะจำลองไว้เป็นที่เคารพสักการะ นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดกุฎีทองยังมี ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยพวน ซึ่งได้รวบรวมเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ของชาวไทยพวน เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องมือ ทำนา ดักสัตว์ จับปลา ตลอดจนยวดยานพาหนะทางน้ำเป็นของเก่าแก่ไว้ให้ชมอีกด้วย ติดต่อขอเข้าชมได้ที่ เจ้าอาวาสวัดกุฎีทอง ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดกุฎีทอง ศูนย์ฯ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น.


วัดจำปาทอง

ตั้งอยู่ที่ตำบลโพประจักษ์ เป็นสถานที่เก็บรักษาเรือพระที่นั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อคราวเสด็จประพาสในการล่องแม่น้ำน้อย เป็นเรือมาดเก๋ง ประเภทเรือแจว ชื่อว่าเรือจำปาทองสิงห์บุรี นอกจากนั้นภายในวัดมีพระนอนองค์ใหญ่ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์  

การเดินทาง
  ใช้เส้นทางหลวงหมาย 3454  ระหว่างกิโลเมตรที่ 22-23 ให้เลี้ยวซ้ายเข้ามาประมาณ 800 เมตร


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุร

ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับวัดโบสถ์ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดโบสถ์มาก่อน ก่อตั้งโดยอดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ พระเทพสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรีและอุทัยธานี ได้รวบรวมจัดเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 มีโบราณวัตถุที่สำคัญและเป็นที่รวมความรู้ด้านประวัติศาสตร์ เช่น โบราณวัตถุที่ขุดพบได้จากแหล่งโบราณบ้านคูเมือง แหล่งเตาเผาแม่น้ำน้อย จัดแสดงเครื่องประดับสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ พัดยศ พระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ เครื่องถ้วยศิลปะไทย-จีน เครื่องดนตรีไทย ส่วนชั้นล่าง เป็นการละเล่นพื้นบ้าน เครื่องมือดักปลา เครื่องทอผ้า ตะเกียงโบราณ 

เวลาเปิด-ปิด : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินทร์บุรีนี้เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. 

อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท  

ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะพร้อมวิทยากรบรรยาย ควรติดต่อก่อนล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3658 1986


เมืองโบราณบ้านคูเมือง
อยู่ภายในสวนรุกขชาติคูเมือง) ตั้งอยู่ที่บ้านคูเมือง ตำบลห้วยชัน  ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมมน กว้าง 650  เมตร  ยาว 750  เมตร สูงจากพื้น 1 เมตร มีเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีการขุดค้นพบภาชนะดินเผามากมาย เช่น เครื่องถ้วยชาม หม้อ ไห กาน้ำ ลูกปัดหินสีต่าง ๆ ตะคันดินเผา ธรรมจักรหินเขียว ตุ้มหู ลูกปัด หินสี และเหรียญเงินมีคำจารึกว่า “ศรีทวารวดีศวรปุญยะ” แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยฟูนันจน ถึงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันวัตถุโบราณที่ค้นพบได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี และภายในบริเวณเมืองโบราณบ้านคูเมืองปัจจุบันได้จัดให้เป็นสวนรุกขชาติ มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ มีคูน้ำโบราณล้อมรอบ มีพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ร่มรื่นสวยงาม  การเดินทาง  ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 311 เส้นสิงห์บุรี-อินทร์บุรี (สายเก่า) กิโลเมตรที่ 17 หรือห่างจากตัวอำเภออินทร์บุรีประมาณ 7 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าเส้น 3285 เส้นอินทร์บุรี-หนองสุ่ม

อุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์

ตั้งอยู่ที่ตำบลทับยา มีพื้นที่อยู่ในเขตอำเภออินทร์บุรีและอำเภอบางระจัน ห่างจากอำเภอเมืองไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 309 ประมาณ 9 กิโลเมตร จะมีทางแยกเลี้ยวซ้ายไปบ้านเชิงกลัด เข้าไปอีกประมาณ 1.2 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ คำว่า “แม่ลา” เป็นชื่อลำน้ำสายหนึ่งในท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี ไหลผ่านพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อำเภออินทร์บุรี อำเภอบางระจัน และอำเภอเมืองสิงห์บุรี เป็นลำน้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารของปลา ฉะนั้นปลาที่จับได้จากลำน้ำแม่ลาจึงมีรสชาติอร่อย อ้วน เนื้อนุ่ม มัน โดยเฉพาะปลาช่อนแม่ลา ซึ่งเป็นอาหารและของฝากที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสิงห์บุรี ปัจจุบันปลาช่อนแม่ลาหายากขึ้นทุกวัน ทางราชการจึงหาทางอนุรักษ์และฟื้นฟู โดยขุดลอกลำน้ำ และสร้างอุทยานแม่ลามหาราชานุสรณ์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำลาการ้อง โดยรอบ ๆ บริเวณอาคารได้จัดให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน นอกจากนั้นทางอุทยานฯ มีบริการบ้านพักไว้สำหรับนักท่องเที่ยว จำนวน 4 ห้อง ราคา 450 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 3650 1416


วัดโพธิ์เก้าต้น หรือ วัดไม้แดง

ตั้งอยู่ที่หมู่ 8 ตำบลบางระจัน ตรงข้ามกับอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจัน ห่างจากตัวเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร เส้นทางหลวงหมายเลข 3032 เป็นสถานที่ที่วีรชนชาวบ้านบางระจันได้เคยใช้เป็นที่มั่น ในการต่อต้านพม่า ที่ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2308 ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า “วัดไม้แดง” เพราะภายในบริเวณ มีต้นไม้แดง ซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งอยู่หลายต้น และชาวบ้านถือกันว่าเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครกล้าตัดหรือทำลาย ในบริเวณวัดมี “วิหารพระอาจารย์ธรรมโชติ” เป็นวิหารทรงจตุรมุข พระอาจารย์ท่านเป็นผู้นำสำคัญผู้หนึ่งของชาวบ้านบางระจัน และใกล้ ๆ กันมีสระน้ำพระอาจารย์ธรรมโชติ มีปลาอยู่ชุกชุมเพราะชาวบ้านถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์จึงไม่จับไปรับประทาน และยังมีศาลรวมวิญญาณวีรชนค่ายบางระจันตั้งอยู่ใกล้ริมรั้ว ส่วนหน้าวัดได้มีการจำลองค่ายบางระจันตามประวัติศาสตร์ไว้ด้วย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโพธิ์เก้าต้นเป็นโบราณสถาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498


ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางาม
ตั้งอยู่ใกล้วัดพระนอนจักรสีห์ อำเภอเมือง สร้างเมื่อพ.ศ. 2543 โดยสโมสรโรตารีจังหวัดสิงห์บุรีและวัดพระนอนจักรสีห์ร่วมกันก่อตั้ง เป็นสถานที่เลี้ยงควายไทยเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้หมดสิ้นไปจากประเทศ โดยมอบให้เกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ต่อไป ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักควายไทยที่ชาวบ้านนำมาไถนานวดข้าว ผู้มีจิตศรัทธาสามารถนำควายที่ไถ่ชีวิตมาจากโรงฆ่าสัตว์นำมาขยายพันธุ์ต่อไป รวมทั้งเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของควายไทยที่ได้ร่วมรบกับชาวบ้านบางระจัน ต่อสู้กับพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ศูนย์อนุรักษ์ควายไทยเขางามเปิดทุกวันเวลา 8.00-18.00 น.

 
วัดสว่างอารมณ์

ตั้งอยู่ที่บ้านบางมอญ ตำบลต้นโพธิ์ ในเขตเทศบาลอำเภอเมืองสิงห์บุรี ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าไปทางลำน้ำเจ้าพระยาประมาณ 2 กิโลเมตร วัดนี้เป็นศูนย์รวมของศิลปะหลายด้าน ได้แก่ การศึกษา การก่อสร้างโบสถ์ วิหารศาลา และโดยเฉพาะการปั้นพระพุทธรูปเหมือน ที่สืบทอดวิชาปั้นพระพุทธรูปมาจากตระกูลบ้านช่างหล่อธนบุรี ภายในวัดยังมี พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ เป็นแหล่งเก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่ที่สมบูรณ์และสามารถเล่นได้กว่า  300 ตัว ซึ่งพระครูสิหมุณี อดีตเจ้าอาวาส ได้รวบรวมตัวหนังใหญ่จากฝีมือช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเอาไว้ และส่วนหนึ่งได้รับมอบหมายจากครูเปีย หัวหน้าคณะหนังเร่ ผู้ที่มีความสามารถในการเชิด-พาทย์หนังใหญ่ และได้ถ่ายทอดการแสดงหนังใหญ่สืบต่อกันมา ตัวหนังใหญ่ที่ใช้แสดงแบ่งเป็นชุดใหญ่ ๆ ได้ 4 ชุด คือ ชุดศึกใหญ่ (ศึกทศกัณฑ์) ชุดศึกมงกุฎ-บุตรลบ ชุดนาคบาศ และชุดศึกวิรุณจำบัง มีการสาธิตการแสดงหนังใหญ่ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ 08.30-17.00 น.  สนใจเข้าชมการแสดงกรุณาติดต่อล่วงหน้า โทร. 08 1851 6205, 08 1802 6085


 
วัดสุทธาวาส หรือ วัดใหม่

ตั้งอยู่ที่ตำบลทับยา ไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 311 (สิงห์บุรี-อินทร์บุรี) กิโลเมตรที่ 11-12 เลยจากวัดกระดังงาบุปผารามไปประมาณ 5 กิโลเมตร หรือห่างจากที่ว่าการอำเภออินทร์บุรีไปทางทิศใต้ประมาณ 3.5 กิโลเมตร มีวิหารหลังเก่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติพระจุฬามณี วาดด้วย ช่างฝีมือชั้นครู เป็นภาพตอนพระพุทธองค์ทรงออกบรรพชา ภาพตอนผจญมาร ภาพตอนพระพุทธองค์ฉันอาหารที่นายจุนทะถวาย ทรงประชวรแล้วเสด็จไปประทับ ณ ต้นรังคู่ เสด็จสู่ปรินิพพาน และภาพเรื่องราวของการถวายพระเพลิง การแจกจ่ายพระอัฐิธาตุแก่เหล่ากษัตริย์และเทวดา บนหน้าบันเป็นภาพบรรจุพระอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าลอยในน้ำ ปัจจุบันได้ลบเลือนไปแล้ว นับเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามและมีคุณค่าอีกแห่งหนึ่ง


 


 
 
 
 
แนะนำสถานทีท่องเที่ยว กราบไหว้พระเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัว หรือคนที่เรารัก และยังได้ท่องเที่ยวอีกต่างหาก ซึ่งใช้เวลาภายในวันเดียว ก็สามารถท่องเที่ยวได้ ....
1
วัดพิกุลทอง
2
วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร
3
วัดหน้าพระธาตุ
4
วัดพระปรางค์มุนี
5
วัดอัมพวัน
6
วัดประโชติการาม 
7
วัดโบสถ์
8
วัดม่วง
9
วัดกุฎีทอง