WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

หมู่เกาะอาดัง-ราวี

อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 40 กิโลเมตร หรือห่างจากตัวเมืองสตูล 60 กิโลเมตร หมู่เกาะอาดัง-ราวี นอกจากจะประกอบไปด้วยเกาะอาดัง และเกาะราวีแล้ว ยังมีเกาะบริวารน้อยใหญ่ เช่น เกาะหลีเป๊ะ เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะดง เกาะหินซ้อน เกาะจาบัง เป็นต้น


อุทยานแห่งชาติตะรุเตา
เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย มีชื่อเสียงทางด้านประวัติศาสตร์ และความสวยงามของธรรมชาติ ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน ห่างจากตัวเมืองสตูลประมาณ 40 กิโลเมตร และห่างจากฝั่งที่ท่าเรือปากบารา 22 กิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ทิศใต้จดทะเลที่เป็นแนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและสหพันธรัฐมาเลเซีย มีพื้นที่ทั้งเกาะและทะเลรวมกันประมาณ 1,490 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย จำนวน 51 เกาะ มีเกาะขนาดใหญ่ 7 เกาะ ได้แก่ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี แบ่งออกเป็น 2 หมู่เกาะใหญ่ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2517 และ ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก ในปี พ.ศ. 2525 ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน (ASEAN Heritage Parks and Reserves) ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

เกาะเภตรามีลักษณะคล้ายเรือสำเภา ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา ทะเลอันดามัน ในคาบสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่สำคัญคือ เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและชายหาด มีพื้นที่ทั้งบนบกและทะเล ประมาณ 494.38 ตารางกิโลเมตร ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2527 อุทยานฯ นี้มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า และปะการังหลากสีสวยงาม 

ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติผาแดง คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท


เกาะหินงาม  
เกาะขนาดเล็กทางทิศใต้ของเกาะอาดัง ทั้งเกาะเต็มไปด้วยหินสีดำ กลมเกลี้ยง มันวาว เล่ากันว่าหินทุกก้อนมีคำสาปของเจ้าพ่อตะรุเตา หากใครนำติดตัวไปจะเกิดแต่หายนะ แต่หากไปชมแล้วเรียงก้อนหินได้ 12 ชั้น แล้วอธิษฐานขอพรก็จะได้สมปรารถนาทุกสิ่งทุกอย่าง

อุทยานแห่งชาติทะเลบัน  
ตั้งอยู่ที่บ้านวัง ประจัน ตำบลวังประจัน อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 40 กิโลเมตร อุทยานฯ มีเนื้อที่ 122,500 ไร่ โดยรวมป่าสงวนแห่งชาติกุปังปุโต๊ะและหัวกะหมิงเข้าด้วยกัน และพื้นที่ป่าควนบ่อน้ำปูยู ในท้องที่ตำบลบ้านควน ตำบลปูยู อำเภอเมือง ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2523 คำว่า “ทะเลบัน” มาจากคำว่า “เลิด เรอบัน” เป็นภาษามลายูแปลว่า ทะเลยุบหรือทะเลอันเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน อุทยานแห่งชาติทะเลบันเกิดจากการยุบตัวของพื้นดินระหว่างเขาจีนและเขามดแดง เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 63,350 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน อุดมไปด้วยพืชพรรณป่าไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ต่าง ๆ เช่น สมเสร็จ และ “เขียดว้าก” (หมาน้ำ) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำรูปร่างคล้ายกบและคางคก แต่มีหาง ส่งเสียงร้องคล้ายลูกสุนัข จะมีชุกชุมตามริมบึงโดยเฉพาะในฤดูฝน สัตว์ชนิดนี้จะมีอยู่เฉพาะที่ทะเลบันเท่านั้น สำหรับผู้ชื่นชมการดูนกไม่ควรพลาด เพราะมีนกหลายชนิดให้ดู เช่น นกแอ่นฟ้าเคราขาว นกปรอดคอลาย นกกางเขนน้ำหลังแดง นกหัวขวาน เป็นต้น 

ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติทะเลบัน คนไทย ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท

อุทยานฯ มีบ้านพักและเต็นท์ ไว้บริการนักท่องเที่ยว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติทะเลบัน โทร. 0 7479 7072-3, 0 7472 9202-3 หรือ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โทร. 0 2562 0760 

เกาะเขาใหญ่  
อยู่ห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 3 กิโลเมตร บนเกาะมีอ่าวชื่อนะปุลา จุดเด่นของเกาะเขาใหญ่ คือ ปฏิมากรรมธรรมชาติที่คล้ายกับปราสาทหิน มีสะพานธรรมชาติยื่นโค้งไปในทะเล ยามน้ำลดสามารถพายเรือลอดได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาของประมงจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ใกล้เกาะเขาใหญ่ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมแวะไปชมมากเช่นกัน

เกาะลังกาวี  

การท่องเที่ยวหมู่เกาะลังกาวี
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย สามารถลงเรือได้ที่ท่าเรือตำมะลัง ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสตูล 9 กิโลเมตร ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเที่ยวไปเช้า-กลับเย็น สอบถามรายละเอียดที่บริษัทไทย เฟอร์รี่ เซ็นเตอร์ จำกัดโทร. 0 7473 0511-3 โทรสาร 0 7473 0513 โทรสาร 0 7471 1782 หรือ บริษัท สตูลทราเวลแอนด์เฟอร์รี่ เซอร์วิส จำกัด โทร. 0 7471 1453, 0 7472 1960, 0 7473 2409, 0 7473 2410 โทรสาร 0 7472 1959


ถ้ำเจ็ดคต  

ตั้งอยู่หมู่ 5 ตำบลปาล์มพัฒนา จากตัวเมืองสตูล แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 4137 ถึงสามแยกไปอำเภอมะนัง เลี้ยวเข้าไปทางถ้ำเจ็ดคต ห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่าวังสายทอง 3 กม. ลักษณะถ้ำคดเคี้ยวและทะลุผ่านภูเขา มีลำธารไหลผ่านภายในถ้ำสามารถล่องเรือภายในถ้ำได้ตลอดระยะทางเพื่อชม ธรรมชาติและหินย้อย มีหาดทรายขาวระยิบระยับภายในถ้ำบริเวณมุมที่คดเคี้ยว คล้ายกับเพชรที่โปรยไว้ที่หาดทราย บริเวณหาดทรายสามารถกางเต็นท์ได้ มีลมพัดเบาๆ และอากาศเย็นสบาย ไม่อับชื้น ฤดูท่องเที่ยวประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม เส้นทางการเข้าสู่ถ้ำเจ็ดคตนี้มีหลายเส้นทางและการเข้าชมสามารถใช้เรือคายัก และเรือยางสำหรับล่องแก่ง ควรเช็ครายละเอียดจากบริษัทนำเที่ยวก่อนการเดินทาง


ถ้ำภูผาเพชร  
  ตั้งอยู่หมู่ที่ 9 บ้านป่าพน ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ มึความสวยงาม เพดานถ้ำสูงโปร่ง ภายในถ้ำมีลักษณะแปลกตาและอัศจรรย์ เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อย เปล่งประกายระยิบระยับคล้ายเกล็ดเพชร ลักษณะภายในแบ่งเป็นห้อง ๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ห้อง และมีการตั้งชื่อลักษณะที่ปรากฎ เช่น ห้องผ้าม่าน ห้องปะการัง ห้องเห็ด ห้องเจดีย์ ห้องโดมศิลาเพชร เป็นต้น และมีการค้นพบหลักฐานร่องรอยประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย กระดูกมนุษย์ส่วนกะโหลกศีรษะ เศษภาชนะดินเผาเคลือบลายเชือกทาบและกระดูกสัตว์เปลือกหอยบรรจุในภาชนะดินเผา สันนิษฐานว่าเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ ซึ่งมนุษย์สมัยก่อนใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เมือประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว

น้ำตกธารปลิว   

อยู่หมู่ 7 ตำบลทุ่งหว้า ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 14 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่มีต้นน้ำเกิดจากเขาลุงเครอะ ในเขตจังหวัดตรัง-สตูล มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นแอ่งน้ำขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 50 เมตร รอบ ๆ บริเวณร่มรื่นด้วยพรรณไม้หลากหลาย การเดินทาง จากถนนสายทุ่งหว้า-ปะเหลียน แยกตรงกิโลเมตรที่ 35 ไปบ้านทุ่งยาวนุ้ย ตำบลทุ่งหว้า ระยะทางจากทางแยก เข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร


น้ำตกวังสายทอง  

  อยู่ริมถนน ร.พ.ช. สายทุ่งนางแก้ว-วังสายทอง ทางหลวงหมายเลข 4137 สามารถเดินทางได้ 2 ทาง คือ ทางอำเภอละงู ตรงทางแยกจากถนนสายสตูล-ละงู ที่สามแยกบ้านโกตา ตำบลกำแพง จากจุดนี้ถึงน้ำตก ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร อีกทางหนึ่งคือทางอำเภอทุ่งหว้า ตรงสามแยกสะพานวา ตำบลป่าแก่บ่อหิน ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร ความงามของน้ำตกแห่งนี้อยู่ที่แอ่งน้ำแต่ละชั้นของหินปูน สายน้ำไหลลงมาตามชั้นของน้ำตกซึ่งลักษณะคล้ายดอกบัวบานลดหลั่นกันลงมาในแอ่ง ที่สวยงาม บริเวณน้ำตกมีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน


น้ำตกปาหนัน   

อยู่ตำบลทุ่งนุ้ย ห่างจากตัวเมืองสตูล 39 กิโลเมตร มีต้นน้ำมาจากภูเขากะหมิง ธรรมชาติรอบ ๆ น้ำตกยังสมบูรณ์ มีน้ำไหลตลอดปี แต่บริเวณน้ำตกมีการสร้างเขื่อนผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดย่อม


วนอุทยานน้ำตกธาราสวรรค์   

ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขาหมาไม่หยก” จัดตั้งเป็นวนอุทยานโดยกรมป่าไม้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2539 เป็นเขตที่มีฝนตกชุกค่อนข้างสม่ำเสมอทำให้เกิดป่าดงดิบความสมบูรณ์ ภายในวนอุทยานสามารถเที่ยวชมน้ำตกที่มีความสวยงามประกอบด้วย 3 ชั้น ชั้นแรกได้แก่ น้ำตกโตนต่ำ ชั้นที่สองได้แก่ น้ำตกสายฝน ชั้นที่สามได้แก่น้ำตกสอยดาว ห่างจากที่ว่าการอำเภอควนกาหลง 12 กิโลเมตร มีสถานที่สำหรับกางเต็นท์พักแรมและบ้านพักไว้บริการ 5 หลัง ติดต่อฝ่ายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สำนักงานป่าไม้เขตสาม โทร. 0 7431 2117 ต่อ 4251-4, 0 7431 1020 

การเดินทาง จากสามแยกนิคมฯ ผ่านที่ว่าการอำเภอควนกาหลงแยกเข้าทางซอย 10 ไปตามทางหลวงหมายเลข 416 จากนั้นเข้าทางหลวงหมายเลข 4137 มีป้ายบอกทางไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร


ถ้ำลอดปูยู (ปูยู แปลว่า ปลาหมอ)  

อยู่ที่เขากาหยัง ตำบลปูยู ทางใต้ของอุทยานฯ ห่างจากตัวจังหวัด 15 กิโลเมตร เป็นถ้ำลอดลักษณะคล้ายกับถ้ำลอดที่อ่าวพังงา มีคลองท่าจีนไหลผ่านถ้ำ และสองฝั่งของคลองเป็นป่าโกงกางตลอดแนว บนเพดานถ้ำมีหินงอกหินย้อยบ้าง ใกล้ถ้ำลอดมีถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม และมีค้างคาวอาศัยอยู่ การเดินทาง สามารถเช่าเรือหางยาวที่ท่าเรือตำมะลัง หรือท่าเทียบเรือประมงสตูล ขององค์การสะพานปลา ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมือง 9 กิโลเมตร โดยไปตามทางหลวงหมายเลข 4183 กิโลเมตรที่ 5-6 จะถึงทางเข้าท่าเรือ ใช้เวลาในการเที่ยวชมประมาณ 2 ชั่วโมง


แหลมตันหยงโปและหาดทรายยาว
อยู่ ทางปากอ่าวสตูล ลักษณะเป็นแหลมที่ยื่นล้ำไปในทะเลอันดามัน มีหาดทรายขาวสะอาดยาวสวยงามและหมู่บ้านชาวประมงอาศัยอยู่ ทั่วบริเวณเต็มไปด้วยต้นมะพร้าว 

การเดินทาง
ไปตามทางหลวงหมายเลข 4051 (เส้นทางไปท่าเรือเจ๊ะบิลัง) ประมาณ 8 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายไปยังบ้านตันหยงโปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร หรือนั่งเรือจากด่านศุลกากรเกาะนกหรือท่าเรือหลังตลาดสดสตูล ประมาณ 1 ชั่วโมง

เกาะสิเป๊ะหรือเกาะหลีเป๊ะ  
อยู่ทางใต้ของเกาะอาดัง 2 กิโลเมตร มีชุมชนชาวเลอาศัยอยู่หลายครัวเรือน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการประมง ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 12 ตลอด 3 วัน 3 คืน ชาวบ้านทีมีเชื้อสายชาวเลจะร่วมกันจัดงานรื่นเริง และที่สำคัญที่สุดคือ ชาวบ้านจะช่วยกันต่อเรือด้วยไม้ระกำ และประกอบพิธีลอยเรือด้วยเป็นความเชื่อว่าเป็นการเสี่ยงทายโชคชะตาในการ ประกอบอาชีพประมง

จุดเด่นของเกาะหลีเป๊ะ คือ ความเป็นธรรมชาติของปะการังรอบเกาะ มีเวิ้งอ่าวที่สวยงาม หาดทรายละเอียดนิ่มเหมือนแป้ง มีอ่าวที่สวยงามชื่อ "อ่าวพัทยา"และ "หาดชาวเล" มีลักษณะโค้งเว้า ทรายขาวละเอียด ซึ่งทั้งสองหาดนี้สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที และยังมีบริการบ้านพักของเอกชนคอยบริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย นักท่องเที่ยวสามารถเช่าเรือไปยังเกาะต่าง ๆ ได้ในราคาลำละ 1,500-1,800 บาท นั่งได้ 8-9 คน โดยติดต่อกับทางรีสอร์ทที่มีบริการทัวร์

การเดินทาง เรือออกจากท่าเรือปากบารา เวลา 10.30 น. และ 13.30 น. โดยจะแวะที่เกาะตะรุเตาก่อน จากนั้นจะเดินทางไปยังเกาะอาดัง และหลีเป๊ะ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.30 ชั่วโมง ค่าโดยสารไป-กลับ 800 บาท

หมู่เกาะสาหร่าย  
ห่างจากท่าเรือเจ๊ะบิลัง อ.เมือง ประมาณ 12 กม. นั่งเรือ 2 ช.ม. หมู่เกาะสาหร่าย นี้มี 2 เกาะใกล้กัน ชาวเมืองเรียกเกาะยะระโตด และยะระโตดนุ้ย มีชายหาดโดยรอบเกาะ ใกล้เกาะยะระโตด มีเกาะหาดหอยงาม ซึ่งคลื่นซัดเปลือกหอยไปกองไว้เป็นเกาะ คล้ายสุสานหอย

เกาะหินซ้อน  
มีลักษณะแปลกคือ หินขนาดใหญ่ 2 ก้อนวางซ้อนตัวกันอยู่กลางทะเล

เกาะลิดี  
อยู่ห่างจากที่ทำการฯ (อ่าวนุ่น) ประมาณ 5 กิโลเมตร และห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 7 กิโลเมตร มีหน้าผาและถ้ำเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่นเป็นจำนวนมาก เนื้อที่ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และมีเวิ้งอ่าวยื่นเข้าไปในตัวเกาะเป็นสระน้ำใสสะอาด เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเล่นน้ำทะเล ปัจจุบันเกาะลิดีมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีบ้านพัก และบริเวณที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อเรือประมงได้จากที่ทำการอุทยานฯ 

เสน่ห์ของเกาะลิดี อยู่ที่การเป็นเกาะคู่แฝดที่มีขนาดไล่เลี่ยกัน และมีเกาะน้อยๆประมาณ 3-4 เกาะ เรียงรายอยู่ใกล้ๆ มีถ้ำซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของนกนางแอ่น รอบด้านคือหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และมีเวิ้งอ่าวยื่นไปในน้ำ

น้ำตกยาโรย  

เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำในป่าหัวกระหมิง มี 9 ชั้น แต่ละชั้นเป็นแอ่งสามารถเล่นน้ำได้ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวในท้องถิ่น การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 4148 (สายควนสตอ-วังประจัน) กม. ที่ 14-15 ประมาณ 6 กม. จะมีทางแยกเข้าไปอีก 700 เมตร


น้ำตกโตนปลิว  

น้ำตกโตนปลิว มีต้นน้ำมาจากภูเขาจีน เป็นน้ำตกขนาดใหญ่มีหลายชั้น ไหลจากหน้าผาสูง สวยงามมาก การเดินทาง ใช้เส้นทางหมายเลข 4184 (สายควนสตอ-วังประจัน) กม. ที่ 9-10 หรือห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติทะเลบัน ประมาณ 10 กม. มีทางลูกรังแยกไปอีก 3 กม.


เกาะไข่  
อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตก ใช้เวลาเดินทางจากเกาะตะรุเตาประมาณ 40 นาที สิ่งที่มีชื่อเสียงบนเกาะไข่ ได้แก่ ซุ้มประตูหินธรรมชาติ เป็นสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ทะเลรอบ ๆ เกาะไข่มีแนวปะการังอยู่โดยทั่วไป ทุกปีจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เป็นจำนวนมาก ทางด้านตะวันตกของเกาะมีหาดทรายสีขาวนวล และละเอียด น้ำทะเลใสเห็นผืนทรายใต้น้ำได้ชัดเจน ทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้ค้างแรมบนเกาะ เรือโดยสารจากเกาะตะรุเตาไปยังเกาะหลีเป๊ะ มักจะวิ่งผ่านเกาะไข่ซึ่งอยู่ระหว่างทาง 

สำหรับผู้สนใจดำน้ำบริเวณหมู่เกาะตะรุเตา อาดังราวี หลีเป๊ะ และอื่น ๆ  ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สตูลฮอลิเดย์  โทร.0 7472 2077

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล (คฤหาสน์กูเด็น)  

ตั้งอยู่ถนนสตูลธานี ซอย 5 ตรงข้ามกับสำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น อาคารเป็นตึกแบบตะวันตก ประตูหน้าต่างรูปโค้งสถาปัตยกรรมยุโรบ หลังคาทรงปั้นหยาแบบไทยและใช้กระเบื้องดินเผารูปกาบกล้วย บานหน้าต่างเป็นแผ่นไม้ชิ้นเล็กๆ เป็นเกล็ดแนวนอน ช่องลมหน้าบนตกแต่งรูปดาวสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม สร้างเมื่อ พ.ศ.2441 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 โดยพระยาภูมินารถภักดี หรือ ตวนกูบาฮารุดดินบินตำมะหงง (กูเด็น บินกูแม๊ะ) เจ้าเมืองสตูลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คฤหาสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว แต่ไม่ได้ประทับแรม และเคยเป็นบ้านพักและศาลากลางจังหวัด ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมโบราณวัตถุและจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยว กับศิลปวัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตของชาวสตูลในด้านต่าง ๆ 

เวลาเปิด-ปิด : พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ปิดวันจันทร์-วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. 
อัตราค่าเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0 7472 3140


วัดชนาธิปเฉลิม   

ตั้งอยู่ที่ถนนศุลกานุกูล ตำบลพิมาน เดิมชื่อ วัดมำบัง เป็นวัดแห่งแรกของเมืองสตูล สร้างเมื่อ พ.ศ. 2425 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดชนาธิปเฉลิมเมื่อ พ.ศ.2482 ชาวเมืองสตูลส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เป็นที่รวมน้ำใจของชาวพุทธศาสนามาร่วม 100 กว่าปี พระอุโบสถของวัดสร้างเมื่อ พ.ศ.2473 มีลักษณะเด่นแตกต่างจากพระอุโบสถทั่วไป คือ เป็นอาคารทรง 2 ชั้น ชั้นล่างก่อด้วยอิฐถือปูน ใช้เป็นศาลาการเปรียญ ชั้นบนเป็นอาคารไม้ ใช้ประกอบพิธีกรรมของพระสงฆ์ ด้านหน้าพระอุโบสถเป็นระเบียงมีบันไดสองข้าง เสาบานหน้าต่างแกะสลักเป็นรูปเครือเถา วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดที่หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัด สตูลร่วมกับศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดสตูล โรงเรียนสตูลวิทยา ประกาศเป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สอบถามรายละเอียดหมายเลขโทรศัพท์ 0 7471 1996


มัสยิดกลางจังหวัดสตูล (มัสยิดมำบัง)  
ตั้งอยู่บริเวณมุมถนนบุรีวานิช และสตูลธานี กลางเมืองสตูล เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา ลักษณะรูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบหินอ่อนและกระจกใส ตัวอาคารแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนนอกเป็นระเบียงมีบันไดขึ้นหอคอย ลักษณะเป็นยอดโดม สามารถมองเห็นทิวทัศน์เมืองสตูลได้ ส่วนในเป็นห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่ละหมาด ชั้นล่างมีห้องใต้ดินใช้เป็นห้องสมุด

สวนสาธารณะเขาโต๊ะพญาวัง   
อยู่ในเขตเทศบาล เมืองสตูล ถนนคูหาประเวศน์ เป็นสวนสาธารณะที่มีบรรยากาศแตกต่างจากสวนสาธารณะทั่วไปตรงที่ตั้งอยู่ติด กับภูเขาหินปูนจึงให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในถ้ำมากกว่าสวนสาธารณะทั่วไป และยังมีลำคลองไหลผ่านข้างสวนสาธารณะ บรรยากาศรอบ ๆ ร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ