WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย-พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84,375 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่บนบกประมาณ 20,594 ไร่ ประกอบด้วยเกาะสำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ (เกาะตอรินลา) เกาะกลาง (เกาะปาจุมบา) และเกาะรี (เกาะสต๊อก) ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 เป็นหมู่เกาะที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์สวยงาม มีปลาสีสันต่าง ๆ มากมาย เป็นแหล่งสำหรับเหมาะชมปะการังน้ำตื้น โดยเฉพาะเกาะตอรินลา  สำหรับบริเวณที่เหมาะจะดำน้ำลึก คือ กองหินริเชลิว อยู่ห่างจากเกาะสุรินทร์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 10 กิโลเมตร เป็นแหล่งที่สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติใต้ทะเล มีปลาหลายพันธุ์ ปะการังสีสวย และเป็นจุดที่มีโอกาสพบฉลามวาฬ ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ใจดีแห่งท้องทะเลมาว่ายให้เห็นอยู่เสมอ ช่วงเวลาที่เหมาะจะเดินทางท่องเที่ยวคือ เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม เป็นช่วงที่มีลมมรสุม ฝนตกชุก คลื่นลมแรง 


อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

อยู่ตำบลเกาะพระทอง ครอบคลุมพื้นที่ 80,000 ไร่ ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อ 1 กันยายน พ.ศ. 2525 คำว่า “สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือ มลายู แปลว่า เก้า หรือ หมู่เกาะเก้า หมู่เกาะสิมิลันเป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในทะเลอันดามัน มีทั้งหมด 9 เกาะ เรียงลำดับจากเหนือมาใต้ ได้แก่ เกาะหูยง เกาะปายัง เกาะปาหยัน เกาะเมี่ยง (มี 2 เกาะติดกัน) เกาะปายู เกาะหัวกระโหลก ( เกาะบอน) เกาะสิมิลัน และเกาะบางู ที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่เกาะเมี่ยงเพราะเป็นเกาะที่มีน้ำจืด หมู่เกาะเหล่านี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหมู่เกาะที่มีความงามทั้งบนบกและใต้ น้ำที่ยังคงความสมบูรณ์ของท้องทะเล สามารถดำน้ำได้ทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก มีปะการังที่มีสีสันสวยงามหลากชนิด ปลาหลากสีสันและหายาก เช่น กระเบนราหู ปลาวาฬ ปลาโลมา ปลาไหลมอนเร่ ปลาการ์ตูน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุด ส่วน เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เป็นฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีคลื่นลมแรงเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและทางอุทยานฯ จะประกาศปิดเกาะในเดือนพฤษภาคมเพื่อเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติทุกปี


เกาะยาว

มีพื้นที่ประมาณ 137.6 ตารางกิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เกาะยาวนี้ประกอบด้วยเกาะ 2 เกาะ คือ เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่ ล้อมรอบด้วยเกาะเล็ก ๆ

 


อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา
มีพื้นที่ประมาณ 250,000 ไร่ ครอบคลุมอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว อุทยานฯ แห่งนี้เป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งทะเลแห่งที่สองของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเล และเกาะน้อยใหญ่ มีเขาหินปูนลักษณะต่าง ๆ ที่มีความงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของหิน สมบูรณ์ด้วยป่าชายเลน และยังเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำอีกด้วย ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524 ช่วงที่เหมาะจะมาท่องเที่ยวคือ เดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน ส่วนเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมเป็นช่วงที่ฝนตกชุก คลื่นลมแรง

น้ำตกลำรู่

เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อยู่ในเขตป่าเทือกเขากระได เป็นน้ำตกขนาดกลางสูง 5 ชั้น มีน้ำตลอดทั้งปี สามารถเดินทางตามทางหลวงหมายเลข 4090 ผ่านที่ว่าการอำเภอกะปงไปหมู่บ้านลำรู่ ประมาณ 9 กิโลเมตร

 


ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา
ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา ตั้งอยู่เลขที่ 164 หมู่ 9 ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ตั้งอยู่บนแนวถนนเลียบชายทะเลหาดท้ายเหมือง ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 4 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ  97 ไร่ 2 งาน 96.2 ตารางวา เป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ในสังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2528 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการเพาะพันธุ์หอยแครง หอยนางรม และกุ้ง ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ทดสอบงานวิจัยเพื่อเชื่อมโยงกับสถาบันวิจัยกุ้งทะเล สถาบันวิจัยอาหารสัตว์น้ำชายฝั่งและสถาบันวิจัยโรคสัตว์น้ำชายฝั่ง และใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายผลในเชิงพาณิชย์ การจัดการระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเชิงอุตสาหกรรมแบบยั่งยืน และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในด้านชีววิทยาและสมดุลของ ระบบนิเวศน์ กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบผลผลิตจากการทำการประมงชายฝั่ง และตรวจรับรองกระบวนการผลิตสัตว์น้ำชายฝั่งให้ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อ ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เช่น ตรวจสอบคุณภาพวัตถุดิบ (ตรวจยาปฏิชีวนะตกค้าง ตรวจวิเคราะห์การติดเชื้อไวรัสโดยวิธี  PCR) ตรวจสอบคุณภาพในแหล่งผลิตตามมาตรฐาน  GAP และ CoC ผลิตและขยายพันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ที่หายากและ ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ พัฒนาการผลิตพ่อแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ บริหารระบบชลประทานน้ำเค็มเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล 

นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมบ่อเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ อาทิ ปลาการ์ตูน  ปลากระพงขาว เต่าตนุ เต่ากระ ปลาปักเป้า ปลาหมอทะเล หอยมือเสือ หอยเชลล์ หอยเป๋าฮื้อ เป็นต้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งพังงา เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 8.30-16.30 น. โดยไม่เสียค่าเข้าชม  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 7643 2212-4 แฟกซ์ 0 7657 1008 และ www.fisheries.go.th/cf-phangnga

วนอุทยานสระนางมโนห์รา

อยู่ตำบลนบปริงในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาทอยนางหงษ์ มีพื้นที่ทั้งหมด 180 ไร่ พื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาหินปูนเป็นแนวยาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทิศ ใต้ เป็นป่าประเภทป่าดงดิบหรือป่าฝน วนอุทยานฯร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ มีลำธารไหลจากป่าต้นน้ำที่อยู่บนสันเขาผ่านหุบเขาทั้งพื้นที่ราบ และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกขนาดเล็ก มีไม้ทางเศรษฐกิจคือ ไม้หลุมพอ ตะเคียน จำปาป่า สัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา ลิง ค่าง หมูป่า ปลาเสือ ปลาพลวงหิน ตะพาบน้ำ ที่มาของชื่อวนอุทยาน “สระนางมโนราห์”ตามความเชื่อเล่าว่ามีนางกินรี 7 ตน บินจากเขาไกรลาศมาเล่นน้ำในสระ แล้วพรานบุญใช้บ่วงบาศจับน้องสุดท้องที่ชื่อว่ามโนราห์ไว้ได้เพื่อนำไปถวายพระสุธน ชาวบ้านจึงใช้เรียกชื่อสระนี้


วัดราษฎร์อุปถัมภ์ หรือ วัดบางเหรียง

จากที่ว่าการอำเภอทับปุดไปบ้านบางเหรียง ตามทางหลวงหมายเลข 4118 ระยะทาง 11 กิโลเมตร วัดตั้งอยู่บนเขาล้าน เจดีย์เป็นรูประฆังคว่ำ โดยมีพระพุทธรูปล้อมรอบฐานโดยรอบ เป็นวัดที่มีภูเขาล้อมรอบสมบูรณ์ด้วยต้นไม้ใหญ่ ในวัดมีถาวรวัตถุทางธรรมที่สำคัญ คือ พระธาตุเจดีย์เทพนิมิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานนามว่า “พระมหาธาตุ เจดีย์พุทธธรรมบันลือ” ในวัดยังมีเจ้าแม่กวนอิม และพระพุทธอัฐิมงคลชัยนาคปรก สร้างไว้เพื่อปกป้องชาวใต้ให้พ้นจากภัยอันตรายทางธรรมชาติ

 


ถ้ำพุงช้าง  

อยู่ภายในบริเวณวัดประจิมเขต หลังศาลากลางจังหวัด ถนนเพชรเกษม เป็นถ้ำใหญ่ที่อยู่ใจกลางเขาช้างบริเวณที่เรียกว่า “พุงช้าง” เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สร้างความยิ่งใหญ่ของหินงอกหินย้อยให้ ประทับใจตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็น การเที่ยวถ้ำพุงช้าง ถือเป็นการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย นักท่องเที่ยวจะต้องเดินลุยน้ำ นั่งแพ และนั่งเรือแคนนู เพื่อเข้าไปชมหินงอกหินย้อยที่เป็นฝีมือธรรมชาติ หินงอกหินย้อยมีลักษณะของช้างหลากรูปแบบที่แปลกตาไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นหินงอกหินย้อยรูปช้างร้อย ๆ เชือกเดินตามกันเป็นวงรอบ หินงอกรูปช้างนั่งอยู่ใต้ฉัตรภายในถ้ำ บันไดสีทองเกิดจากหินงอกอันวิจิตรยิ่งเมื่อถูกแสงไฟจะเป็นประกายสวยงามมาก การเดินเที่ยวถ้ำพุงช้างใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถติดต่อบริษัท ทองแท้ ซี แคนู จำกัด โทร. 0 7626 4320, 0 7641 2292


ย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า  

ร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเก่าตะกั่ว ป่าในยุคทองของเหมืองแร่ดีบุก เห็นได้จากอาคารบ้านเรือนร้านค้าของชาวจีนแบบชิโนโปรตุกีส บริเวณถนนอุดมธารา และบริเวณถนนศรีตะกั่วป่า (ตลาดใหญ่) ลักษณะเป็นตึกแถวสองชั้น ก่ออิฐถือปูน คล้ายกับตึกแถวที่เมืองภูเก็ต  มีลวดลายบริเวณช่องลมและระเบียง และมีซุ้ม ประตูโค้งตามทางเดินด้านหน้า แม้ปัจจุบันธุรกิจเหมืองแร่จะเลิกร้างไป แต่ตึกแถวโบราณเหล่านี้ยังคงมีร่องรอยของอดีตหลงเหลืออยู่มาก

ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 14.00-18.00 น. ช่วงฤดูท่องเที่ยวระหว่างเดือนพฤศจิกายน - เมษายนของทุกปี เทศบาลตำบลตะกั่วป่า ร่วมกับชุมชนตลาดใหญ่ ได้รณรงค์ให้ถนนศรีตะกั่วป่า เป็น  ถนนสายวัฒนธรรมเมืองตะกั่วป่า โดยได้รับความร่วมมือจากชาวชุมชนมาจำหน่ายอาหารขนมพื้นบ้านมากมาย อาทิ ขนมบ้า อาโป่ง ขนมเบื้อง ขนมโค ฯลฯ  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อเทศบาลเมืองตะกั่วป่า โทร. 0 7642 4279                  


อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813
อนุสรณ์สถานสึนามิ เรือ ต.813 ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 บ้านบางเนียง ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา จาก เหตุการณ์ธรณีพิบัติใต้พื้นมหาสมุทรอินเดียนอกชายฝั่งตะวันตกทางตอนเหนือของ เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ กระจายรัศมีออกไปโดยรอบ คลื่นสึนามิพัดเข้าสู่บ้านบางเนียง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เวลา 10.30 น. ก่อให้เกิดภัยพิบัติต่อผู้คนทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง 

เรือตรวจการ 813 หรือที่คนทั่วไปในนาม ต.813 เป็นเรือในหน่วยงานกรมตำรวจ  มีน้ำหนักถึง 60 ตัน หรือ 60,000 กิโลกรัม กำลังจอดปฎิบัติการอยู่บริเวณชายฝั่งเขาหลัก ได้ถูกคลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าไปเกยบริเวณเชิงเขาเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร เมื่อเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ จึงได้คงไว้อย่างนั้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานหรืออนุสาวรีย์ เพื่อระลึกถึงผู้จากไปและเตือนความทรงจำ ว่าแรงปะทะของคลื่นสึนามินั้นรุนแรงและสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแค่ ไหน ใน บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งนี้มีป้ายนิทรรศการแสดงเกี่ยวกับเหตุการณ์สึนามิที่ บ้านบางเนียง และจำหน่ายของที่ระลึก หนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้

อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง
ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2529 มีพื้นที่ทั้งหมด 45,000 ไร่ แยกออกเป็นสองส่วน คือ เทือกเขาลำปี ประกอบด้วยภูเขาหลายลูกเรียงเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่เป็นหินอัคนี อายุอยู่ในช่วง 60–140 ล้านปี สภาพป่าเป็นป่าดงดิบ มีพันธุ์ไม้ เช่น ไม้ยาง ตะเคียนทอง กระบาก เฟิร์น หวาย ไผ่ มียอดเขาที่สูงที่สุดคือ ยอดเขาขนิม สูง 622 เมตร และหาดท้ายเหมืองซึ่งอยู่ริมฝั่งทะเลอันดามัน ชายหาดฝั่งตะวันตกเป็นหาดทรายขาว ด้านตะวันออกติดป่าชายเลนและเป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ ได้แก่ อีเห็น กวางป่า ไก่ป่า นกเขาเปล้าธรรมดา ส่วนในทะเลและชายหาดจะพบ ปลากระเบน ปลากระบอก ปลาบิน ปลาดาว และปะการังกลุ่มเล็ก

สวนอนุสรณ์สถานสึนามิ

สวนอนุสรณ์สถานสึนามิ ตั้งอยู่ติดชายทะเลบ้านน้ำเค็ม ห่างจากตัวอำเภอตะกั่วป่าประมาณ 7 กิโลเมตร จัดสร้างในเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่  ประกอบด้วย สวนพักผ่อน สวนสุขภาพสำหรับออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น มีอนุสรณ์ก่อสร้างเป็น ช่องทางเดินระหว่างกำแพงกันดินสองข้าง โดยด้านหนึ่งทำเป็นกำแพงคอนกรีตโค้งคล้ายรูปคลื่น ผิวหินขัดสีดำ และจะมีช่องมองทะลุกำแพงไปเห็นเรือประมงที่ได้รับความเสียหายจาก คลื่นยักษ์สึนามินำมาตั้งไว้ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นกำแพงเฉียงปูอิฐสลับกับกระเบื้องเซรามิก และมีรายชื่อของผู้เสียชีวิตสลักบนแผ่นป้ายทองเหลืองติดบนกระเบื้องเซรามิก ซึ่งจำนวนผู้เสียชีวิตที่บ้านน้ำเค็มประมาณ 1,400 คน  ไม่ไกลจากอนุสรณ์มีพระรูปกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงพระยศทหารเรือขนาด 1.5 เท่าของพระองค์จริง ประดิษฐานไว้ให้ชาวประมงที่ออกจับปลาเคารพบูชา ก่อนออกเดินเรือ   นอกจากนั้นยังมีร้านจำหน่ายของที่ระลึกผลิตโดยชาวบ้านน้ำเค็ม ร้านอาหารทะเล และบริการนำเที่ยวหมู่บ้านน้ำเค็ม   พิพิธภัณฑ์เปิดทุกวันเวลา 8.00-17.00 น.       


แหลมปะการัง

แหลมปะการัง อยู่ระหว่างเส้นทางตะกั่วป่า-เขาหลัก จากตัวเมืองตะกั่วป่าเลี้ยวขวา กิโลเมตรที่ 78–79 เข้าไปอีก 5 กิโลเมตร เป็นหาดทรายที่มีซากปะการังเขากวางหักอยู่เต็มหาด เล่นน้ำได้ บรรยากาศร่มรื่นด้วยแนวสน ช่วงเย็น ๆ เหมาะที่จะนั่งชมพระอาทิตย์ตก และใกล้ ๆ แหลมปะการังยังมีที่พักสวย ๆ บรรยากาศดี ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกพักผ่อนอีกด้วย


เกาะไข่
เป็นเกาะเล็ก ๆ สองเกาะ เรียกว่า เกาะไข่นอก เกาะไข่ใน ทั้งสองเกาะมีหาดทรายขาวน้ำทะเลใสมีปลาหลากชนิดสีสันสวยงามว่ายอยู่ใกล้ ๆ ชายหาด มีปะการังสวยงาม การเดินทางไปเกาะไข่สามารถซื้อทัวร์ได้จากบริษัทนำเที่ยว หรือเช่าเรือได้จากท่าเรือเกาะสิเหร่ ท่าเรือแหลมหิน หรืออ่าวฉลอง ในจังหวัดภูเก็ต

อุทยานแห่งชาติศรีพังงา
อยู่ในเขตอำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่า ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเทือกเขานมสาว มีเนื้อที่ 153,800 ไร่ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีป่าไม้สมบูรณ์เป็นประเภทป่าดิบชื้น มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะเคียนทอง ปาล์มสกุลต่าง ๆ กระพ้อหนู ชายผ้าสีดา กล้วยไม้ เช่น รองเท้านารี เอื้องเงินหลวง และยังสามารถพบสัตว์ป่าและนกต่าง ๆ หลายชนิด ได้แก่ สมเสร็จ เลียงผา วัวแดง เก้ง เสือ นกเงือก นกเขียวคราม นกชนหิน ปลาพลวง กบทูด เป็นต้น อุทยานฯ จะมีฤดูฝนมากกว่าฤดูร้อน ฝนตกเกือบตลอดปี ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ธันวาคม ประกาศเป็นอุทยานฯ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2531 และได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ

เกาะพระทอง
อยู่ตำบลเกาะพระทอง เป็นเกาะขนาดใหญ่ในทะเลอันดามัน มีหาดทรายขาวสวยงาม และยังคงสภาพสมบูรณ์ทางธรรมชาติ บรรยากาศเงียบสงบ มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่ เช่น กวาง หมูป่า นกเงือก นกตะกรุม บนเกาะมีชาวบ้านอาศัยอยู่ทำอาชีพประมง และมีที่พักของเอกชนไว้บริการนักท่องเที่ยว การเดินทาง สามารถเช่าเรือหางยาวได้ที่ท่าเรือคุระบุรี ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ติดต่อได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะพระทอง โทร. 0 7649 1735

น้ำตกโตนช่องฟ้า

อยู่ห่างจากอำเภอตะกั่วป่า 28 กิโลเมตร เป็นน้ำตกในส่วนอุทยานฯ เขาหลัก-ลำรู่ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 5 กิโลเมตร ไปตามถนนเพชรเกษม เส้นทางตะกั่วป่า-เขาหลัก จากอำเภอตะกั่วป่าให้เลี้ยวซ้ายไปทางวัดพนัสนิคมเข้าไปอีก 5 กิโลเมตร มีต้นน้ำเกิดจากคลองบางเนียง เป็นน้ำตกสูง 5 ชั้น น้ำไหลตลอดปี สภาพแวดล้อมร่มรื่น และมีสัตว์ป่าหายาก เช่น สมเสร็จ นกเงือก และนกนานาชนิด

 


ชายทะเลเขาหลัก
ชายทะเลเขาหลัก ห่างจากอำเภอตะกั่วป่า 32 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางชายทะเลที่กำลังเป็นที่นิยมอีกแห่งหนึ่ง บริเวณชายหาดเขาหลักมีหาดทรายกว้างและหินก้อนเล็กใหญ่เรียงรายอยู่มากมาย บรรยากาศน่านั่งพักผ่อน เล่นน้ำได้ ยามเย็นจะมีชาวบ้านมานั่งชมพระอาทิตย์ตก นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของโรงแรม รีสอร์ทหลายแห่งที่มีการจัดรูปแบบของที่พัก  สวนสวย     กลมกลืนกับบรรยากาศชายทะเล  เงียบสงบ ร่มรื่นด้วยต้นสน ต้นมะพร้าวริมชายหาด  สมบูรณ์ด้วยธรรมชาติที่ไม่ได้ปรุงแต่งด้วยสีสันที่กำลังเป็นที่นิยมของนัก ท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ   และฝั่งตรงข้ามทางเข้าอุทยานฯ มี ศาลเจ้าพ่อเขาหลัก  ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้านในละแวกนั้นตั้งอยู่ 

อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่
อยู่ห่างจากอำเภอตะกั่วป่า 33 กิโลเมตร ริมทางหลวงหมายเลข 4 บริเวณกิโลเมตรที่ 59 ให้เลี้ยวขวา ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2534 มีพื้นที่ 78,125 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง อำเภอกะปง และอำเภอเมือง พื้นที่อุทยานฯ มีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ได้แก่ เขาหลัก เขาแสงทอง เขาไม้แก้ว และเขาปลายบางโต๊ะ เป็นป่าประเภทป่าดงดิบมีพันธุ์ไม้ อาทิ ไม้ยาง พะยอม หลุมพอ บุนนาค ตะเคียนทอง กระบาก มียอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,077 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญในจังหวัดพังงา ได้แก่ แม่น้ำพังงา และแม่น้ำตะกั่วป่า และสัตว์ที่มีให้พบเห็น ได้แก่ สมเสร็จ เสือ เลียงผา ลิง ค่าง กวาง เก้ง นกหว้า นกเงือก นกหัวขวาน นกปรอด นกขุนทอง อุทยานฯ มี เส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกโตนช่องฟ้า ระยะทาง 5 กิโลเมตร และ 7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินประมาณ 2 ชั่วโมงและ 5 ชั่วโมง ตามลำดับ ตามเส้นทางเดินจะมีป้ายสื่อความหมาย ทางลาดชัน ต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง
อัตราค่าเข้าอุทยานฯ ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท     

 อุทยานฯ มีบ้านพักและเต็นท์บริการนักท่องเที่ยว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา 82110 โทร. 0 7642 0243 หรือ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช โทร. 0 2562 0760


หาดบางสัก  

อยู่ตำบลบางม่วง ริมถนนสายเพชรเกษม สายท้ายเหมือง-ตะกั่วป่า กิโลเมตรที่ 76-77 มีทางแยกซ้ายมือเข้าไป 100 เมตร ชายหาดบางสักมีหาดทรายขาวสะอาดยาวขนานกับทิวสนร่มรื่น เล่นน้ำได้ ยามเย็นจะมีชาวบ้านนักท่องเที่ยวมานั่งชมรอพระอาทิตย์ตกอยู่เสมอ ชายหาดจะมีที่พัก และร้านอาหารบริการ


บ่อน้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน
อยู่ ตำบลบ่อดาน ห่างจากตัวเมืองพังงา 43 กิโลเมตร ตามเส้นทางพังงา -โคกกลอย เมื่อถึงสี่แยกโคกกลอย ขับตรงไปประมาณ 2 กิโลเมตร จะเห็นป้ายบ่อน้ำพุร้อนให้เลี้ยวขวาเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร น้ำพุร้อน บ้านบ่อดาน เป็นของเอกชน รอบบริเวณจัดเป็นสวนสวยงามร่มรื่น มีน้ำแร่อุ่น ๆ ไหลวนเวียนอยู่ในสระเหมาะสำหรับการแช่เพื่อการพักผ่อนคลายความเครียด บรรเทาอาการปวดข้อ กระดูก เหน็บชา ตลอดจนบำรุงผิวพรรณ และเส้นผม เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00–21.00 น. อัตราค่าบริการ ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 20 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7658 1115, 0 7658 1360

วัดนารายณิการาม
ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเหล ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 14 กิโลเมตร หรือตามทางหลวงหมายเลข 401 (ตะกั่วป่า-สุราษฎร์ธานี) จะมีทางแยกขวาเข้าไป 2 กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระลักษณ์ องค์จำลอง ซึ่งองค์จริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และเทวรูปพระแม่นางสีดา (นางสีดา) ซึ่งเป็นองค์จริง นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกอายุ 1,300-1,400 ปี ที่ขุดได้บริเวณยอดเขาเลียง อยู่ภายในวัด รูปสลักเหล่านี้มีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเมือง “ตะโกลา” (ชื่อเดิมของเมืองตะกั่วป่า) และการเผยแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมอินเดียในภูมิภาคแถบนี้ นอกจากนั้นอำเภอกะปงยังมีน้ำตกอื่น ๆ ที่ชาวบ้านนิยมไปเที่ยวพักผ่อน คือ น้ำตกแสงทอง เป็นน้ำตกเล็ก ๆ และ น้ำตกหินลาดหรือน้ำตกแล่งหิน เป็นน้ำตกที่มีโขดหินและธารน้ำใส

น้ำตกเต่าทอง

ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ่อแสน ห่างจากตัวเมืองพังงา 19 กิโลเมตร อยู่ก่อนถึงอำเภอทับปุด 8 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่ไหลจากในถ้ำ และไหลสู่ฝายเพื่อกักเก็บน้ำให้ประชาชนได้ใช้ ภายในบริเวณน้ำตกร่มรื่นสามารถเล่นน้ำได้

 


เมืองพังงา

เมืองที่สงบเงียบดูเรียบง่าย เป็นอำเภอที่มีภูเขารูปลักษณะสวยงามแปลกตาตลอดเส้นทาง ภูเขาเหล่านี้มีต้นไม้เขียวครึ้มขึ้นปกคลุม ทำให้ดูชุ่มชื้นและเย็นสบาย มีถนนหนทางที่สะอาด ตึกสองข้างทางยังเป็นตึกเตี้ย ๆ ที่ไม่บดบังความสวยงามของทิวทัศน์ธรรมชาติ เป็นเมืองที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความเรียบง่ายในการพักผ่อนอยู่กับ ธรรมชาติไม่มีแสงสี และก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองพังงา จะมองเห็น “เขารูปช้าง” สูงตระหง่านแต่ไกล ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด

 


วนอุทยานน้ำตกรามัญ
อยู่ตำบลกระโสม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาโตนดิน มีพื้นที่ประมาณ 125 ไร่ วนอุทยานฯ เป็นน้ำตกขนาดกลางมีน้ำไหลตลอดทั้งปี เหตุที่มาของชื่อน้ำตกรามัญ คือ เมื่อสงครามเก้าทัพ ได้มีชาวมอญกลุ่มหนึ่งหนีทัพพม่าขึ้นไปตั้งชุมชนตรงชั้นบนสุดของน้ำตกแห่ง นี้ ชาวบ้านจึงรียกว่า “น้ำตกรามัญ” บริเวณต้นน้ำมีลักษณะเป็นเทือกเขาเรียงรายติดต่อกัน สภาพป่าค่อนข้างสมบูรณ์เป็นป่าดงดิบ วนอุทยานฯ ในส่วนที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวประกอบด้วยธารน้ำขนาดกลางไหลจากป่าต้นน้ำผ่าน หุบเขา และพื้นที่ต่างระดับทำให้เกิดน้ำตกชั้นต่าง ๆ หลายชั้น นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่า ได้แก่ เลียงผา สมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน ตะพาบน้ำ ปลาซิว ปลาพรวงหิน ปลาเสือ วนอุทยานฯ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้วย นอกเหนือจากน้ำตกรามัญ ยังมีน้ำตกอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีก เช่น โตนใต้ เป็นน้ำตกชั้นล่างสุด หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ตีนล่าง โตนขอนปัก มีลักษณะเป็นสระน้ำขนาดกลาง มีความลึกพอสมควร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ โตนไอ้จุ่น มีลักษณะเหมือนชั้นที่ 2 สามารถลงเล่นน้ำได้ตลอดทั้งปี โตนกลาง เป็นชั้นที่มีธารน้ำตกสูงพอสมควร มีความสวยงาม และเหมาะสำหรับเล่นน้ำใต้ธารน้ำตก โตนหินราว เป็นชั้นน้ำตกที่มีความลึกมาก โตนสาวงาม เป็นน้ำตกชั้นสุดท้ายที่มีความสวยงามเช่นกัน ที่พัก วนอุทยานฯ ไม่มีบริการบ้านพัก แต่มีสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยจะต้องนำเต็นท์ เตรียมเครื่องนอน-อุปกรณ์ในการพักแรมมาเอง และมีบริการร้านค้าสวัสดิการ ตั้งแต่เวลา 09.00–16.30 น.

การเดินทาง รถยนต์ จากตัวเมืองพังงาไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ถนนเพชรเกษม ไปทางตำบลกระโสม ห่างจากตัวเมืองประมาณ 11 กิโลเมตร มีทางแยกขวาเข้าสู่วนอุทยานฯ อีก 6 กิโลเมตร หรือจากอำเภอตะกั่วทุ่ง ตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 10 กิโลเมตร จะมีทางแยกซ้ายเข้าสู่วนอุทยานฯรถประจำทาง สามารถจะเช่าเหมาได้จากตลาดในอำเภอเมืองไปวนอุทยานฯ ได้


วัดสุวรรณคูหา

 ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลกระโสม ตามทางหลวงหมายเลข 4 (พังงา-ภูเก็ต) ห่างจากตัวเมืองพังงาประมาณ 9 กิโลเมตร บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 30 จะมีถนนลาดยาง แยกเข้าขวามือไปอีก 1 กิโลเมตร วัดสุวรรณคูหานี้ชาวบ้านทั่วไป เรียกว่า “วัดถ้ำ” เป็นวัดสำคัญของจังหวัดพังงา เนื่องจากเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดี บริเวณที่ตั้งวัดมีภูเขา ซึ่งมีถ้ำใหญ่น้อย ถ้ำที่สำคัญ ได้แก่ ถ้ำใหญ่ ถ้ำแจ้ง ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว โดยถ้ำใหญ่อยู่ตอนล่างสุด ตลอดความยาวของถ้ำประดับตกแต่งด้วยกระเบื้อง ถ้วย จานเชิงลายคราม และเบญจรงค์ ถ้ำใหญ่นี้ใช้เป็นวิหารมีพระพุทธรูปต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ที่สำคัญคือ พระพุทธไสยาสน์ มีความงดงามมาก นอกจากนั้นยังมีพระปรมาภิไธยย่อของพระเจ้าแผ่นดิน และพระราชวงศ์หลายพระองค์ เช่น จปร. ปปร. ภปร. รพ. เป็นต้น นอกจากนั้นบริเวณหน้าถ้ำยังเป็นที่อยู่อาศัยของฝูงลิงจำนวนมากที่ลงมาหา อาหาร เก็บค่าเข้าชมเฉพาะชาวต่างชาติ คนละ 10 บาท


ถ้ำฤาษีสวรรค์ และถ้ำลูกเสือ

อยู่ในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ถ้ำฤาษีสวรรค์ จะอยู่ด้านหน้าถ้ำลูกเสือ ภายในจะมีธารน้ำใส เย็นสบาย มีหินงอกหินย้อย สามารถเดินจากด้านหน้าถ้ำทะลุไปด้านหลังถ้ำได้ จากนั้นจึงเดินไปยังถ้ำลูกเสือ ที่มีขนาดเล็กกว่าถ้ำฤาษีสวรรค์ ในถ้ำมีหินงอกหินย้อยอยู่ประปราย และมีฝูงลิงอยู่ด้านหน้าถ้ำด้วย

 


สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา

อยู่ริมถนนเพชรเกษม ตำบลตากแดด จากตัวเมืองพังงา อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 33 (เยื้ององค์การโทรศัพท์จังหวัดพังงา) มีการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าที่หายาก และใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกปรอดหัวโขนเคราแดง นกแก็บ นกแสก เหยี่ยวแดง ไก่ฟ้าสีทอง นกยูงไทย-อินเดีย นอกจากนี้ยังมีเลียงผา เม่น ชะนี ลิง ค่างดำ หมี เป็ด เปิดให้เข้าโดยไม่เสียค่าเข้าชมทุกวัน เวลา 08.30–16.30 น. หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ และต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ต้องทำหนังสือติดต่อล่วงหน้าถึง หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าจังหวัดพังงา โทร. 0 7641 3261


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต
อยู่ตำบลสองแพรก มีพื้นที่ 100,000 ไร่ ร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ต่าง ๆ มีน้ำตกโตนปริวรรต หรือชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตกสองแพรก” ห่างจากเขตรักษาพันธุ์ฯ 100 เมตร เป็นน้ำตกไม่สูงนักเบื้องล่างเป็นแอ่งน้ำที่ยังมีเศษแร่ตกค้างอยู่ ช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลแรง มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง 2 กิโลเมตร ตามเส้นทางสามารถจะเห็น บัวผุด เป็นพันธุ์ไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดในโลก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 เซนติเมตร เป็นพืชกาฝากเกาะกินรากไม้เถาชื่อ ย่านไก่ต้ม กลีบดอกมี 5 กลีบ มีสีน้ำตาลแดง เป็นพืชที่หาดูได้ยากจะเกิดเฉพาะป่าที่มีความสมบูรณ์ ออกดอกปลายหน้าฝนประมาณเดือนตุลาคม นอกจากนั้นตามเส้นทางจะสังเกตุเห็น เหมืองเก่าร่องรอยแห่งอดีต จุดดูนก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่า ผ่านน้ำตกหินเพิง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำ เป็นต้น การเดินศึกษาต้องมีเจ้าหน้าที่นำทาง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ปัจจุบันมีบริษัทนำเที่ยวจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งนั่งช้างผ่านป่าชม ธรรมชาติสองข้างทางของลำธารซึ่งยังคงความบริสุทธิ์ของป่าที่ยังไม่มีใครเข้า ไปรุกราน และล่องแก่ง ที่นี่มีเกาะแก่งมากทำให้สนุกสนานและตื่นเต้นเหมาะสำหรับผู้ที่รักการผจญภัย โดยใช้เวลาในการล่องแก่งประมาณ 45 นาที และสามารถล่องได้ตลอดทั้งปี

ที่พัก มีบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง และมีที่กางเต็นท์โดยนักท่องเที่ยวจะต้องนำเต็นท์มาเอง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต หมู่ 2 ตำบลสองแพรก อำเภอเมือง จังหวัดพังงา 82000

การเดินทาง รถยนต์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 4 เลี้ยวขวาที่บ้านสองแพรกเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร รถโดยสารประจำทาง สามารถนั่งรถสายกรุงเทพฯ-พังงา มาลงที่สถานีเดินรถโดยสารประจำทางจังหวัดพังงาแล้วทางเจ้าหน้าที่เขตฯ จะมารับ โดยต้องติดต่อล่วงหน้า


ล่องเรือแม่น้ำตะกั่วป่า

แม่น้ำตะกั่วป่าเกิดจากทิวเขาใน เขตอำเภอกะปง ไหลผ่านอำเภอตะกั่วป่า และไหลลงสู่ทะเลอันดามัน  มีความยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร มีคลองสาขาแยกออกไป ชื่อคลองสังเนห์ ที่บริเวณตำบลบางนายสี ซึ่งเหมาะกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นั่งเรือชมป่าชายเลน และชีวิตสัตว์ตามธรรมชาติที่มีให้เห็นตลอดรายทางที่ผ่าน อาทิ นก งู ปู ปลา ที่อาศัยหากินอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณนี้ พืชเด่นที่เห็นได้ทั่วไปริมคลอง ได้แก่ ต้นจากซึ่งเป็นปาล์มชนิดหนึ่ง ซึ่งลูกใช้เป็นอาหาร และใบใช้มุงหลังคา  ต้นไทรย้อยอายุกว่า 100 ปี บางช่วงขึ้นอยู่เป็นกลุ่มใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาและรากไทรย้อยปกทั่วบริเวณ เหมือนกับป่าดึกดำบรรพ์ จนเรียกขานคลองนี้ว่าเป็น little amazon ใช้เวลาล่องเรือประมาณ 1 ชั่วโมง เหมาะที่จะล่องในเวลาเช้า  มีบริการจัดเรือนำเที่ยวป่าชายเลน ด้วยเรือยนต์ขนาดเล็กที่ชาวบ้านเรียกวันว่า เรือพีท เป็นเรือท้องถิ่น วิ่งในน้ำตื้นได้ นั่งได้ลำละ 1  คน ค่าเช่าเรือประมาณลำละ 700 บาท  ใช้เวลาล่องประมาณ 1 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีบริการเรือแคนูสำหรับพายเองนั่งได้ 2 คน ลำละ 400 บาท   

ติดต่อได้ที่ ร้านอาหารบ้านหมู บริเวณตลาดสด บขส.ตะกั่วป่า โทร. 0 7647 1072, 08 7283 3123   หรือติดต่อได้ที่บริษัทตัวแทนนำเที่ยวบริเวณชายหาดเขาหลัก


ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์
อยู่ในกองทัพเรือภาค 3 หมู่บ้านทับละมุ ตำบลลำแก่น ฐานทัพเรือพังงาตั้งขึ้นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติใต้ทะเล แก่นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป เป็นอาคาร 2 ชั้น แสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมทางทะเล การฉายสไลด์มัลติวิชั่นเกี่ยวกับใต้ทะเลอันดามัน ศูนย์ฯ แห่งนี้ เปิดบริการทุกวันไม่เสียค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 08.30–16.30 น. และทางศูนย์ฯ มีบริการที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0 7644 3299–300

ชายทะเลท่านุ่น 
 อยู่เชื่อมระหว่างสะพานสารสิน - สะพานเทพกษัตรี ระหว่างจังหวัดพังงาและภูเก็ต จากทางหลวงหมายเลข 4 ตรงเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 402 ก่อนถึงเกาะภูเก็ตบริเวณช่องแคบปากพระ จะแลเห็นหาดทรายทั้งด้านซ้ายและด้านขวา ที่หาดทรายนี้ทุก ๆ ปี จะมีเต่าขึ้นมาวางไข่อยู่เสมอ

ประติมากรรมอนุสรณ์สถานสึนามิ 
ประติมากรรมอนุสรณ์สถานสึนามิ ตั้งอยู่ที่ซอยนายเท่ง ถนนเพชรเกษม กม.ที่ 61 บ้านบางเนียง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา  ก่อสร้างโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อรำลึกถึงเหตุภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547

ประติมากรรมชื่อว่า "Stabile"  ผลงานการออกแบบของศิลปินชาว สวีเดน ลาร์ส อิงกลุนด์ ศิลปินชาวสวีเดนผู้มีผลงานโดดเด่นในแนว มินิมัลลิสม์ เป็นศิลปินชาวสวีเดนที่เป็นที่รู้จักทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มีผลงานจัดแสดงอยู่ทั้งในเวนิส ปารีส นิวยอร์ก และสวีเดน  "Stabile" หมายถึง บางสิ่งบางอย่างที่มั่นคง แข็งแรงเป็นหนึ่งเดียว งานชิ้นนี้มีผลสืบเนื่องมากจาก การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของลาร์ส อิงกลุนด์ ในปี 1990 เช่น โคมไฟ โต๊ะ หรือเก้าอี้ ขาโต๊ะ "Stabile" เป็นประติมากรรมนามธรรมแบบเรขาคณิต สร้างด้วยวัสดุสแตนเลสเส้นตรงผิวด้าน จำนวน 5 เส้นนำมาสานขัดกันเป็นชิ้นงานประติมากรรมมีความสูงประมาณ 6 เมตร ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าหรือเบื้องบนจักรวาล ศิลปินต้องการให้ผู้ชมแปลความหมายด้วยตัวเอง เขาเคยกล่าวว่า "ผู้ชมสามารถเข้าถึงจินตนาการในงานของข้าพเจ้าได้ก็โดยจิตใจเท่านั้น" 

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
ถนนเขาช้าง ริมถนนเพชรเกษม เยื้องศาลากลางจังหวัด เป็นสวนสาธารณะที่มีทัศนียภาพสวยงาม มีรูปหล่อโลหะของ “สมเด็จย่า” ในท่าทรงประทับยืนอยู่กลางสวน ช่วงเย็น ๆ จะมีประชาชนมาออกกำลังกายและพักผ่อนกันมาก