WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก

พิพิธภัณฑ์พญาคันคากเป็นพิพิธภัณฑ์แรกใน 3 พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีบุญบั้งไฟที่ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างก่อน โดยพิพิธภัณฑ์ที่เหลือคือ พิพิธภัณฑ์พญาแถน และพิพิธภัณฑ์พญานาค ซึ่งตามตำนานนั้นพญาคันคากเป็นโอรสของกษัตริย์ แต่มีผิวพรรณเหมือนคางคก ซึ่งภาษาอีสานเรียกว่า "คันคาก" แต่ด้วยมีบุญญาการมากจึงได้รับการช่วยเหลือจากพระอินทร์และเป็นที่นับถือของชาวบ้าน จนลืมเซ่นสรวงบูชาพญาแถน ทำให้พญาแถนไม่ปล่อยฝนลงมาบนโลก

 
วัดมหาธาตุ

ตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมือง โบราณสถานที่สำคัญในวัดคือพระพุทธบุษยรัตน์ หรือพระแก้วหยดน้ำค้าง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยเชียงแสน เป็นพระบูชาคู่บ้านคู่เมืองของยโสธรที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ฯ พระราชทานให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรคนแรก


พระพุทธบาทยโสธร

ตั้งอยู่ที่วัดพระพุทธบาทยโสธร บ้านหนองยาง ตำบลหัวเมือง ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 6 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 2083 ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเป็นเนินทรายขาวสูงงอกขึ้นกลางพื้นที่ลุ่มน้ำชีนับ เป็นโบราณวัตถุอันล้ำค่าของจังหวัด บริเวณเดียวกันนี้ยังมีโบราณวัตถุอีกชิ้นหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธรูปปางนาคปรก (ศิลาแลง) 1 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 1 ศอก และหลักศิลาจารึกทำด้วยศิลาแลง 1 หลัก สูง 1 เมตร กว้าง 50 เซ็นติเมตร มีตัวหนังสือโบราณบันทึกไว้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 3 อย่างนี้ พระมหาอุตตปัญญาและสิทธิวิหาริก ได้นำมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1378 นอกจากนั้นก็เขียนบอกคำนมัสการพระพุทธบาทไว้ บางตัวก็อ่านไม่ออกเพราะเลือนลางมาก ในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน ของทุกปี จะมีประชาชนจากอำเภอและตำบลใกล้เคียงไปนมัสการเป็นจำนวนมาก


พระธาตุก่องข้าวน้อย

ตั้งอยู่ในทุ่งนา ตำบลตาดทอง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 9 กม. ไปตามทางหลวงหมายเลข 23 (ยโสธร-อุบลราชธานี) ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 194 เลี้ยวซ้ายไปอีก 1 กิโลเมตร

 

 


หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์

ตั้งอยู่ที่วัดสระไตรนุรักษ์ บ้านนาเวียง หมู่ที่1 ตำบลนาเวียง ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 25 กิโลเมตร เป็นหอไตรเก่าแก่อยู่กลางสระน้ำ สร้างมาประมาณร้อยกว่าปี เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าหรือไทยใหญ่ เป็นอาคารไม้ขนาดกว้าง 8.30 เมตร ยาว 10.50 เมตร หลังคามุมสังกะสี มีชายคายื่นทั้ง 4 ทิศ หลังคามี 4 ชั้น ลดหลั่นกันขึ้นไปมีประตูด้านหน้า 1 ช่อง บานประตูแกะสลักลวดลายสวยงาม ใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกแต่มาโบราณ


โบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้

ตั้งอยู่ที่อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร  มีประวัติเล่าสืบกันมาว่าในปี ค.ศ.1908 มีผู้หนีตายอพยพจากที่ต่าง ๆ กัน เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้รวม 5 ครอบครัว ซึ่งหนีมาด้วยสาเหตุเดียวกัน คือ ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ ชาวบ้านในหมู่บ้านจึงรุมทำร้ายและขับไล่ จากนั้นได้เดินทางไปหาบาทหลวงเดชาแนล และบาทหลวงออมโบรซีโอ ที่บ้านเซซ่ง ต.เชียงเพ็ง อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ขอให้ไปช่วยขับไล่ผีปิศาจที่สิงสู่อยู่กับตนและ ครอบครัว ซึ่ง บาทหลวงทั้ง 2 ท่าน ก็ยอมเข้าป่าลึกไปตามคำขอ เมื่อรู้สึกดีขึ้น ทั้ง 5 ครอบครัว จึงเข้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ต่อมาบ้านหนองซ่งแย้ มีผู้คนอพยพ ไปอยู่มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1909 ชาวบ้านปลูกกระต๊อบ ฝาขัด แตะเล็กๆ ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา นับว่าเป็นจุดกำเนิดวัดซ่งแย้ หรือชื่ออย่าง เป็นทางการ เป็นภาษาละตินว่า วัดอัครเทวดามิคาแอล ตามชื่อนักบุญองค์สำคัญ เป็นภาษาอังกฤษคือโบสถ์ เซนต์ไมเคิล เป็นภาษาฝรั่งเศสคือ โบสถ์แซงต์ มิเชล โดยมีบาทหลวงเดชาแนล เป็นอธิการโบสถ์คนแรก และคนในบ้านหนองซ่งแย้ซึ่งล้วนแต่เป็นชาวไทยอีสาน ได้มาเข้ารีต ถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก เกือบทั้งหมด
หลังจากนั้น ได้มีการสร้างอาคารโบสถ์ใหม่หลายครั้ง โบสถ์ไม้เนื้อแข็งหลังปัจจุบันนี้ เป็นโบสถ์หลังที่ 4 วางแผนก่อสร้างปี ค.ศ. 1936 ชาวบ้านพากันรวบรวมไม้ ลงมือสร้างปี ค.ศ. 1947 ตัวโบสถ์รูปทรงที่สร้างขึ้นมีลักษณะแบบศิลปะไทย กว้าง 16 เมตร ยาว 57 เมตร จัดเป็นโบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย ใช้แผ่นไม้เป็นแป้นมุง หลังคา 80,000 แผ่น ใช้เสาขนาดต่างๆกันถึง 360 ต้น ส่วนใหญ่เป็นเสาไม้เต็ง เสาในแถวกลางมีขนาดใหญ่ยาวที่สุดมี 260 ต้น สูงจากพื้นดินกว่า 10 เมตร พื้นแผ่นกระดานเป็นไม้แดงและไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ม้านั่งไม้จุคนได้กว่าพันคน ระฆังโบสถ์มีเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ 2 ฟุต อยู่ในหอระฆังสูงที่สร้างแบบหอระฆังตามวัดไทยทั่วไป แต่แปลกตรงที่แยกต่างหากจากโบสถ์ และเนื่องจากไม้ที่ได้รวบรวมมามีจำนวนมาก จึงได้นำไม้ที่เหลือมาสร้างโรงเรียนบ้านซ่งแย้พิทยา
การเดินทาง จากยโสธรใช้ทางหลวงหมายเลข 2169 เลยอำเภอกุดชุมไปประมาณ 7-8 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าไปอีกราว 600 เมตร ถึงบริเวณโรงเรียนซ่งแย้พิทยาและโบสถ์ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน


กู่จาน

อำเภอคำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร ตั้งอยู่ที่บ้านงิ้ว ตำบลกู่จาน ห่างจากตัวอำเภอ 12 กิโลเมตร กู่จานเป็นเจดีย์เก่าเจดีย์หนึ่งในจังหวัด มีลักษณะคล้าย ๆ กับพระธาตุพนม ตามตำนานเล่าว่ากู่จานมีมาตั้งแต่ครั้งสร้างพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

 

 


แหล่งโบราณสถานบ้านสงเปือย
อยู่ห่างจากตัวเมืองยโสธร 25 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร-คำเขื่อนแก้ว-อุบลราชธานี (ทางหลวงหมายเลข 23) จะมีทางแยกขวาเข้าไปอีกราว 10 กิโลเมตร สิ่งสำคัญและปูชนียสถานที่น่าสนใจมีดังนี้
พระพุทธรูปใหญ่
เป็นพระประธานในอุโบสถวัดสงเปือย มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 8 เมตร เป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยอิฐ ปูน มีอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี เป็นที่สักการะของประชาชนในท้องถิ่น
เจดีย์บรรจุดินจากสังเวชนียสถาน
เดิมเป็นเจดีย์เก่า อายุประมาณ 200 ปีขึ้นไป ในปี พ.ศ. 2498 ได้ต่อเติมขึ้นใหม่ โดยเงินทุนของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พระปลัดเขียน อัมมาพันธ์ นำดินจากสังเวชนียสถาน 4 ตำบล คือ ที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน จากประเทศอินเดียมาบรรจุไว้
รอยพระพุทธบาทจำลอง
จัดสร้างโดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม และท่านผู้หญิง ในวันสงกรานต์ของทุกปีมีประชาชนในท้องถิ่นมาสรงน้ำเป็นจำนวนมาก
พิพิธภัณฑ์ของโบราณ
เป็นสถานที่รวบรวมของโบราณซึ่งเก็บและขุดได้จากดงเมืองเตยเมืองเก่าสมัยขอม ในพิพิธภัณฑ์นี้มีเตียงบรรทมเจ้าเมือง (เป็นศิลา) และศิลาจารึก สันนิษฐานว่าเป็นอักษรขอมโบราณ
ซากเมืองโบราณดงเมืองเตย
อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านสงเปือยห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร และห่างจากตัวอำเภอประมาณ 7 กิโลเมตร ภายในบริเวณดงเมืองเตยมีซากวัด สระน้ำ กำแพงเมือง ซึ่งปัจจุบันได้ชำรุดลงไปมากแล้ว แต่ยังมีเค้าโครงเดิมพอจะสันนิษฐานได้ว่าเดิมเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณสมัย เจนละ-ทวารวดี ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จากข้อความที่พบในจารึกของกษัตริย์เจนละ แสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระ ศิวะ ในช่วงเวลานั้น บริเวณดงเมืองเตย รวมทั้งชุมชนใกล้เคียงก็คงจะเคยเป็นเมืองที่มีชื่อว่า “ศังขะปุระ” ซึ่งคงจะมีความสัมพันธ์ในฐานะเมืองในปกครองของอาณาจักรเจนละ ซึ่งก็คืออาณาจักรขอมในสมัยต่อมาที่แผ่อำนาจเข้ามาในเขตลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาดังกล่าว

ย่านเมืองเก่าบ้านสิงห์ท่า
บริเวณคุ้มบ้านสิงห์ท่า ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตเทศบาลเมืองเป็นย่านเมืองเก่าที่ปรากฏนามอยู่ในประวัติ ศาสตร์การก่อตั้งเมืองปัจจุบันในบริเวณดังกล่าวยังคงมีตึกแถวโบราณที่มีรูป ทรงและลวดลายงดงามและได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีซึ่งเหมาะแก่การท่อง เที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมือง

หมู่บ้านทำหมอนขิตบ้านศรีฐาน
ห่างจากตัวเมืองยโสธร 20 กิโลเมตร ตามเส้นทางยโสธร-ป่าคิ้ว-อำนาจเจริญ (ทางหลวงหมายเลข 202) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 18-19 แยกทางขวามือเข้าไปทางลูกรังอีก 3 กิโลเมตร หลังฤดูทำนาชาวบ้านแทบทุกครัวเรือนมีอาชีพทอผ้าและทำหมอนขิต นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปชมและซื้อหมอนขิตไว้เป็นที่ระลึก ซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ส่งเป็นสินค้าออกไปขายต่างประเทศ นับเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่นำรายได้เป็นอันดับสองรองจากการทำนา

สวนสาธารณะพญาแถน

ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมถนนแจ้งสนิท (ทางหลวงหมายเลข 23) ติดกับอ่างเก็บน้ำลำทวน ภายในสวนพญาแถนมีลำน้ำเล็กๆ คดเคี้ยวล้อมรอบบริเวณโดยรอบประกอบด้วยสวนไม้ดอก ไม้ประดับ สังคีตศาลา (เวทีการแสดงกลางแจ้ง) สนามเด็กเล่น และสวนสุขภาพ เทศบาลกำหนดให้สวนพญาแถนเป็นสถานที่จัดงานบั้งไฟประจำปี (พญาแถนเป็นชื่อของเทพเจ้าแห่งฝนตามความเชื่อของชาวอีสานว่าเมื่อถึงเดือนหก จะต้องทำบั้งไฟจุดขึ้นไปบนท้องฟ้าถวายพญาแถน ฝนจะได้ตกต้องตามฤดูกาล) นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่จัดงานแข่งเรือสั้น(เรือหาปลา)ประจำปี และงานสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 สวนแห่งนี้ยังได้รับรางวัลสวนสาธารณะดีเด่น ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย


หมู่บ้านนาสะไมย

หมู่บ้านนาสะไมย อำเภอเมือง จ.ยโสธร ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับบ้านทุ่งนางโอก มีชื่อเสียงในเรื่องการจักสานไม้ไผ่และการแกะสลักเกวียนจำลองที่ปราณีตงดงาม


ภูถ้ำพระ
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านกุดแห่ หรือกุดแห ตำบลกุดเชียงหมี ห่างจากอำเภอเลิงนกทา 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 212 และห่างจากอำเภอเมือง 85 กิโลเมตร ที่เรียกว่า “ภูถ้ำพระ” เนื่องจากมีพระพุทธรูปอยู่ในถ้ำจำนวนมาก ถ้ำพระนี้เป็นถ้ำใหญ่กว้างประมาณ 3 วา ยาวประมาณ 8 วา ตั้งอยู่ชะง่อนภูด้านทิศใต้ มีทางเข้าไปตามซอกหินเป็นอุโมงค์ จากปากถ้ำเลยไปทางทิศเหนือ สามารถเดินลอดไปได้บนภูเขาลูกนี้นอกจากจะมีบรรยากาศร่มเย็นและร่มรื่นไปด้วย ป่าไม้หนาทึบแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีถ้ำอื่นๆ อีก อาทิ ถ้ำเค็ง ถ้ำงูซวง ถ้ำเกลี้ยง และถ้ำพรหมบุตร