WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

ภูเก็ต เบิร์ดพาราไดซ์

ภูเก็ตเบิร์ดพาราไดซ์ สวนนกเปิดใหม่ในภูเก็ตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในภูเก็ต
พบกับความสนุกสนาน และความน่ารักและแสนรู้ของเจ้านกน้อย รวมถึงกินกรรมมากมาย
ที่คุณคาดไม่ถึง ว่าเจ้านกน้อยจะทำให้ท่านและครับครัว ได้สนุก กับการแสดงที่แสนน่ารัก


บ้านตีลังกา

บ้านตีลังการ ภูเก็ต สถานที่เที่ยวสุดฮิตในภูเก็ต แปลกแหวกแนว
และสนุกกับได้ตีลังกาเดินอยู่ในบ้าน และได้สนุกกับการได้ถ่ายรูป
Action กับท่าๆตีลังแบบพิสดาร สุดมันส์กับเพื่อนๆ


เกาะไม้ท่อน

เกาะไม้ท่อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากเกาะไม้ท่อนเป็นเกาะส่วนตัว
และเพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปเที่ยวชม และพีกผ่อน ทั้งนี้ทางเกาะไม้ท่อนต้องการรักษา
ความเป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ โดยจำกัดนักท่องเที่ยวในการไปเที่ยวชมเกาะไม้ท่อนแห่งนี้


อุทยานแห่งชาติสิรินาถ (หาดในยาง)

ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 อยู่ห่างจากตัวเมือง 30 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนเทพกษัตรี ผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ตรงไปเมื่อถึงหลักกิโลเมตร 21-22 จะมีทางแยกด้านซ้ายเข้าไป 10 กิโลเมตร หรือจะไปทางแยกเข้าสนามบินเลี้ยวซ้าย 2 กิโลเมตร ครอบคลุมเนื้อที่ 56,250 ไร่ เป็นหาดทรายที่มีความยาวต่อเนื่องกันถึง 13 กิโลเมตร โดยเริ่มจาก


ประตูเมืองสู่ภูเก็ต  (Phuket Gateway)

จัดสร้างโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต  เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2550 เพื่อให้ห้องรับแขกแห่งแรก ในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาโดยทางรถยนต์ ผ่านสะพาน ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร เพื่อข้ามจากแผ่นดินใหญ่มายังเกาะภูเก็ต


แหลมพรหมเทพ

เป็นจุดชมวิวที่สวยงามของภูเก็ต อยู่ห่างจากหาดราไวย์ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแหลมที่อยู่ตอนใต้สุดของเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเรียกว่าแหลมเจ้า จากริมหน้าผามีแนวต้นตาลลาดลงสู่ปลายแหลมที่เป็นโขดหิน สามารถเดินไปจนถึงปลายแหลมได้ มองเห็นน้ำทะเลสีเขียวมรกต และสามารถเห็นเกาะแก้วอยู่ด้านหน้าแหลม ทางขวาจะเห็นแนวหาดทรายของหาดในหาน แหลมพรหมเทพนับเป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังมี “ประภาคารกาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ” สร้างขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี มีขนาดความกว้างที่ฐาน 9 เมตร สูง 50 ฟุต และแสงไฟจากโคมไฟจะมองเห็นไกลถึง 39 กิโลเมตร ใช้เป็นเครื่องหมายในการเดินเรือเนื่องจากภูเก็ตถือเป็นศูนย์กลางเส้นทาง คมนาคมในทะเลอันดามันที่สำคัญ ภายในประภาคารมีการแสดงนิทรรศการเกี่ยวการสร้างประภาคาร การรักษาเวลามาตรฐาน การคำนวณ และแสดงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและตก เรือหลวงจำลองพร้อมประวัติเรือแต่ละลำ จากบนยอดของประภาคารยังเป็นจุดชมทิวทัศน์บริเวณแหลมพรหมเทพโดยรอบ


วัดพระทอง (วัดพระผุด)
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 21 กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกษัตรีผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ถึงที่ว่าการอำเภอถลางทางด้านขวาจะมีทาง แยกเข้าวัดพระทอง วัดนี้มีพระพุทธรูปผุดขึ้นจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ เมื่อคราวศึกพระเจ้าปะดุง ยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปคราวใดก็มีฝูงแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้านได้นำทองหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ดังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง” เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุข้าวของเครื่องใช้ของชาวภูเก็ต เช่น “จังซุ่ย” เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีนที่ต้องมัดเท้าให้เล็กตามค่านิยมของสังคม สมัยนั้น พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 07.00 น. – 17.00 น.

หาดป่าตอง
ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนวิชิตสงคราม หรือ ทางหลวงหมายเลข 4020 ไป 9 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 4029 ไปอีก 6 กิโลเมตร เป็นอ่าวที่มีความโค้งมาก หาดทรายงดงามเป็นแนวยาว 9 กิโลเมตร น้ำทะเลใสสะอาด เหมาะแก่การเล่นน้ำ บริเวณหาดมีที่พัก บริษัทนำเที่ยว ศูนย์การค้า แหล่งบันเทิง บริการนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน

ตึกเก่าสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส
นอกจากภูเก็ตจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีธรรมชาติอันสวยงามแล้ว ยังมีอาคาร รุ่นเก่าในตัวเมืองภูเก็ต ที่เป็นทั้งบ้านเรือน ร้านค้า สถานที่ราชการ ธนาคาร และอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ อาคารปัจจุบันที่ทำการศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด ธนาคารนครหลวงไทย ส่วนใหญ่เป็นตึกซึ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยเกือบร้อยปีมาแล้ว เมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่เริ่มเจริญใหม่ ๆ  ลักษณะของตัวอาคารมีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้าง  หน้าต่าง  ประตู เป็นไม้ฉลุลาย

ลักษณะสถาปัตยกรรมเหล่านี้ในยุคแรก มีอิทธิพลของจีนอยู่มาก การก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นตึกแถว 2 ชั้น หรือชั้นเดียว กำแพงหนา เพราะใช้ตัวกำแพงรับน้ำหนัก กระเบื้องหลังคาเป็นกระเบื้องโค้งแบบจีน รูปทรงหลังคา ตลอดจนประตูหน้าต่างและส่วนต่าง ๆ ล้วนเป็นแบบจีนทั้งสิ้น สมัยต่อมาจึงเริ่มมีการผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบยุโรป เรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบ "ชิโน-โปรตุกีส"(Chinois Postugess)

ปัจจุบันสามารถพบเห็นสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีสได้ทั่วไปบริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนกระบี่ ถนนพังงา ถนนเยาวราช ถนนกระ และซอยรมณีย์ ซึ่งถนนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของเมืองภูเก็ต และบอกเล่าวัฒนธรรมของเมืองภูเก็ตในอดีตได้เป็นอย่างดี  

จุดชมวิว 3 หาด

จากหาดในหานไปหาดกะตะน้อยตามเส้นทางถนนรอบเกาะ จุดชมวิวจะอยู่ระหว่าง 2 หาดนี้ จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเวิ้งอ่าวถึง 3 อ่าว คือ อ่าวกะตะน้อย อ่าวกะตะ และอ่าวกะรน ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก


สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต

ตั้งอยู่ที่ปลายแหลมพันวา จัดแสดงสัตว์น้ำที่สวยงาม แปลกตา หาชมได้ยาก โดยมีรูปแบบการจัดตู้เลี้ยงให้ใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติของสัตว์ น้ำชนิดนั้น ๆ มากที่สุด เช่น หาดทราย หาดหิน แนวปะการัง ป่าชายเลน และป่าโกงกาง ภายในตัวอาคารได้แยกส่วนจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนคือ พันธุ์ไม้น้ำ สัตว์น้ำจืด และสัตว์ทะเล รวมทั้งทรัพยากรอื่นๆจากชายฝั่งถึงทะเล  
- พันธุ์ไม้น้ำ สัตว์น้ำจืด มีตู้จัดแสดงสัตว์น้ำจืดมากกว่า 50 ชนิด เช่น ปลาไหลไฟฟ้า ปลาช่อนอเมซอน ปลากระเบนน้ำจืด
- สัตว์ทะเล ทะเลอันดามันเป็นแหล่งที่มีสัตว์ทะเลมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ตได้คัดเลือกสัตว์ทะเลมาจัดแสดงทั้งในตู้ ตลอดจนการจัดแสดงในตู้อุโมงค์ขนาดใหญ่ ปริมาตร 200 ตัน แสดงปลากระเบนราหู ปลาฉลาม เป็นต้น นอกจากนั้นยังจัดแสดงปลาหมอทะเลขนาดใหญ่ในตู้ปริมาตร 120 ตัน 
ชมนิทรรศการทางทะเลที่สวยงามหลายรูปแบบ ทุกตู้แสดงมีป้ายบอกชื่อ ชนิดของสัตว์น้ำ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อความสะดวกในการชมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีรถเข็นสำหรับ คนพิการบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และทางลาดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการด้วย

เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. ค่าเข้าชมคนไทย ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 7639 1126  และสามารถชมการดำน้ำให้อาหารแก่สัตว์น้ำ ในตู้อุโมงค์ทุกวันเสาร์และอาทิตย์เวลา 11.00-11.30 น.  การเดินทาง สามารถนั่งรถสองแถวจากตลาด บริเวณถนนระนอง จะมีรถออกตั้งแต่เวลา 09.00 น. ทุก ๆ ชั่วโมง จนถึง 15.00 น.


หาดกะตะ
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 17 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนเจ้าฟ้าถึงห้าแยกฉลองเลี้ยวขวาไปตามถนนหมายเลข 4028 หาดกะตะแบ่งออกเป็น 2 หาดคือ หาดกะตะใหญ่ กับหาดกะตะน้อย เป็นหาดที่เหมาะสำหรับการเล่นน้ำและใช้เป็นที่ฝึกดำน้ำ เนื่องจากมีแนวปะการังติดต่อกันไปจนถึงเกาะปูซึ่งอยู่ด้านหน้าหาดกะตะ บริเวณชายหาดมีบ้านพัก บริษัทนำเที่ยว ร้านค้า แหล่งบันเทิง ไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยวด้วย

หาดกรน

อยู่ถัดจากหาดกะตะไปทางเหนือ มีเพียงเนินเขาเตี้ย ๆ คั่นอยู่เท่านั้น แต่ถ้าจะไปที่กลางหาดกะรนและหมู่บ้านกะรน มีถนนแยกจากหาดกะตะไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร อ่าวกะรนใหญ่กว่าอ่าวกะตะ มีชายหาดยาวเหยียด เหนือชายหาดเป็นเนินทรายสูงๆ ต่ำๆ มีสนทะเลต้นใหญ่ๆ และต้นตาลขึ้นเรียงรายอยู่โดยทั่วไป หาดทรายที่อ่าวกะรนขาวสะอาดและละเอียดมาก


หาดในหาน
เป็นหาดที่อยู่ถัดจากแหลมพรหมเทพขึ้นไปทางทิศเหนือ อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 18 กิโลเมตร มีทางไปได้หลายทาง จะไปจากหาดราไวย์ โดยผ่านหรือไม่ผ่านแหลมพรหมเทพก็ได้ หรือถ้ามาจากห้าแยกฉลองไปทางหาดราไวย์ ประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาไปบ้านใสยวน หนองหาน ประมาณ 4 กิโลเมตร ชายหาดในหานไม่ยาวนัก หาดทรายขาวสะอาด ด้านหลังของชายหาดเป็นบึง ชาวบ้านเรียกว่าหนองหาน ระหว่างทะเลและบึงมีเพียงหาดทรายของหาดในหานขวางกั้นอยู่เท่านั้น ในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม คลื่นจะแรงมาก ไม่ควรลงเล่นน้ำเพราะอาจเกิดอันตรายได้

หมู่บ้านไทยและสวนกล้วยไม้ภูเก็ต 
อยู่ ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร บนถนนเทพกษัตรี ภายในมีการแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การแสดงของช้าง การสาธิตการทำเหมืองแร่แบบดั้งเดิม และสวนกล้วยไม้ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 09.00-21.00 น. การแสดงรอบเช้า เริ่มเวลา 11.00 น. รอบเย็น เวลา 17.30 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 25 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 230 บาท เด็ก 120 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 0 7621 4860

ภูเก็ตแฟนตาซี
ตั้งอยู่บริเวณหาดกมลา เป็นแหล่งบันเทิงยามราตรี ที่มีการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมไทยด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ภายในบริเวณมีร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกและหัตถกรรมไทยต่างๆ ห้องเกมส์ แต่ละอาคารจะได้รับการออกแบบเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ลักษณะต่าง ๆ โดยดึงเอาจุดเด่นของแต่ละภาคมาใช้ และตกแต่งโดยใช้แสงสีต่าง ๆ ดูตระการตา สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมคือ การแสดงจินตมายา ในวังไอยรา เป็นการนำเอกลักษณ์ของไทยทั้งด้านวรรณคดี วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม มาผสมผสาน และนำเสนอผ่านตัวเอกคือเจ้าชายกมลา และช้างคู่บารมี ไอยรา โดยใช้เทคนิคพิเศษเข้ามาช่วย คั่นการแสดงด้วยบัลเล่ต์กลางเวหา มายากลนำเสนอโดยนักแสดงที่แสดงเป็นอินจันแฝดสยามคู่แรกของโลก เปิดให้บริการเวลา 17.30-23.30 น. การแสดงเริ่มเวลา 21.00 น.  (งดการแสดงวันพฤหัสบดี)  ค่าเข้าชม  การแสดงรวมบุฟเฟ่ต์ ผู้ใหญ่ 1,600 บาท เด็ก 1,200 บาท  ชมการแสดงอย่างเดียว ผู้ใหญ่ 1,100 บาท เด็ก 800 บาท 
สอบถามรายละเอียด โทร. 0 7638 5000 หรือฝ่ายรับจองบัตร โทร. 0 7638 5111 โทรสาร 0 7638 5222 สนง.กรุงเทพฯ โทร. 0 2914-1531 โทรสาร 0 2914 1530  E-mail: www.phuket-fantasea.com

วัดฉลอง หรือ วัดไชยธาราราม

อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 8 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4021 ผ่านสามแยกบริเวณสนามกีฬาสุรกุล เลี้ยวซ้ายไปทางห้าแยกฉลอง วัดฉลองจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงห้าแยกฉลองประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงของภูเก็ต มีรูปหล่อของหลวงพ่อแช่ม และหลวงพ่อช่วง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวภูเก็ต


พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว Phuket Thaihua Museum

ตั้งอยู่ที่ถนนกระบี่ย่านเมืองเก่าภูเก็ต สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งชาวจีนฮกเกี้ยนบรรพบุรุษชาวจีนรุ่นแรกที่อพยพมาอยู่ที่ภูเก็ตได้ร่วมกัน ตั้งขึ้น  ตัวอาคารแบบชิโนโปรตุกีสที่เห็นในปัจจุบันนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477   บนหน้าจั่วอาคารเรียน มีรูปปูนปั้นเป็นรูปค้างคาวแดง ซึ่งสื่อความหมายถึง การรู้หนังสือคือโชคอันยิ่งใหญ่  เป็นการแสดงให้เห็นถึงการตระหนักถึงการให้การศึกษาแก่ลูกหลานชาวภูเก็ต ไม่เฉพาะการเล่าเรียน เพื่อให้อ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของการศึกษาอยู่ที่การปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม และปรัชญาในการดำเนินชีวิต


บ้านชินประชา
เป็นบ้านเก่าแก่สไตล์ชิโน-โปรตุกีส ซึ่งสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของเกาะภูเก็ต มีอายุกว่า 100 ปี  ตั้งอยู่ที่ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ ในตัวเมืองภูเก็ต  เป็นบ้านของตระกูล ตัณฑวณิช  ผู้เป็นเจ้าของได้อนุรักษ์ตัวอาคารและเครื่องเรือนเครื่องใช้ต่าง ๆ ในบ้านไว้เป็นอย่างดี โดยมีความมุ่งหวังให้สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่แสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภูเก็ตผ่าน การใช้ชีวิตของผู้คนชาวภูเก็ต ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา 

หาดสุรินทร์
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 24 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตใช้ทางหลวงหมายเลข 402 เมื่อถึงอนุสาวรีย์วีรสตรีแล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก 12 กิโลเมตร เป็นหาดที่อยู่ริมเชิงเขา บริเวณเหนือหาดมีต้นสนทะเลต้นใหญ่ๆ เรียงรายอยู่ และบริเวณเหนือหาดด้านขวามือเป็นสนามกอล์ฟ หาดสุรินทร์ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะมีลักษณะลาดชัน และในฤดูมรสุมจะมีคลื่นลมจัดมาก

หาดกะหลิม
ไปตามเส้นทางเดียวกับหาดป่าตอง แต่เมื่อถึงตัวหาดป่าตอง จะมีทางแยกให้เลี้ยวขวาก็จะถึงหาดกะหลิมเป็นหาดเล็กๆ มีโขดหินและแนวปะการังและมีสถานที่พักริมหาด

หาดกมลา
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 26 กิโลเมตร จากอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร เลี้ยวซ้ายผ่านหาดสุรินทร์ แหลมสิงห์ ก็จะถึงหาดกมลาเป็นแนวหาดทรายยาวประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นหาดที่สงบเงียบ มีสถานที่พักบริการนักท่องเที่ยว ที่หาดกมลาแห่งนี้มีอนุสรณ์สถานสึนามิ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนถึงพิบัติภัยคลื่นยักษ์ที่เคยเกิดขึ้นที่ชาดหาด แห่งนี้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เป็นประติมากรรมชื่อว่า จิตจักรวาล ซึ่งสื่อถึงแรงหมุนของโลกและการปรับเปลี่ยนของธรรมชาติพื่อความสมดุล

อ่าวฉลอง

อยู่ห่างตัวเมือง 11 กิโลเมตร เส้นทางเดียวกับทางไปหาดราไวย์ เมื่อถึงห้าแยกฉลองเลี้ยวซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตรถึงอ่าวฉลอง มีท่าเรือเป็นสะพานไม้ทอดยาวไปในทะเล ชายหาดเป็นรูปโค้งยาวเหยียดมองเห็นทิวมะพร้าวริมหาดเอนลู่ออกทะเล ทะเลบริเวณนี้ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะหาดเป็นโคลน ที่อ่าวฉลองนี้นักท่องเที่ยวจะเช่าเรือไปเที่ยวตามเกาะต่างๆ หรือเช่าไปตกปลาได้


หาดราไวย์

อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 17 กิโลเมตร เส้นทางจากห้าแยกฉลองไปสู่หาดราไวย์ ตามทางหลวงหมายเลข 4024 เป็นเส้นทางที่สวยที่สุดสายหนึ่งของภูเก็ต หาดราไวย์เป็นหาดทรายขาวสวยงามเล่นน้ำได้ เพราะชายฝั่งตื้น คลื่นลมไม่แรง มีที่พักและร้านอาหารทะเลบริการริมหาด และมีชาวเลอาศัยอยู่


หอชมวิวเขาขาด

ตั้งอยู่ที่หมู่ 6 ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต บริเวณอ่าวมะขาม แหลมพันวา เป็นจุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต สร้างขึ้นตามโครงการขององค์การ บริหารส่วนตำบลวิชิต บริเวณหอชมวิวเขาขาดมีทัศนียภาพที่เป็นเอกลักษณ์ในมุมสูง สามารถมองเห็นทัศนียภาพทั่วเกาะภูเก็ตได้ถึง 360 องศา  อาทิ อ่าวฉลอง แหลมพันวา เกาะสิเหร่ เกาะบอน และเกาะน้อยใหญ่รอบ ๆ ภูเก็ต รวมทั้งตัวเมืองภูเก็ต สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชม สัมผัสกับความยิ่งใหญ่ตระการตาแห่งท้องทะเลอันดามัน และความสวยงามของทิวทัศน์รอบเกาะภูเก็ต ภายในบริเวณหอชมวิวเขาขาดมีร้านขายของที่ระลึก ที่จอดรถกว้างขวาง และห้องน้ำไว้บริการด้วย

         การเดินทาง ใช้เส้นทางถนนศักดิเดช ผ่านหมู่บ้านเมืองทอง เลียบคลองมุดง หรือใช้เส้นทางไปอ่าวมะขาม ก่อนถึงแหลมพันวาจะมีทางเลี้ยวขวาไปยังเขาขาด  มีป้ายบอกตลอดทาง


บ้านพระยาวิชิตสงคราม

ตั้งอยู่ที่บ้านท่าเรือ ถนนเทพกระษัตรี ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ห่างจากตัวเมืองประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต ช่วงปี พ . ศ . 2395 - 2425 กบฎอั้งยี่ชาวจีน ประวัติและผลงานของพระยาวิชิตสงคราม 


อนุสาวรีย์วีรสตรี
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร ตั้งอยู่ที่สี่แยกท่าเรือ ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 12 กิโลเมตร เป็นอนุสาวรีย์ที่ชาวภูเก็ตร่วมกันสร้างขึ้น เมื่อปี 2509 เพื่อเชิดชูเกียรติวีรสตรีผู้กล้าหาญแห่งเมืองถลาง 

วัดพระนางสร้าง
อยู่ห่างจากตัวเมือง 20 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนเทพกษัตรี ถึงสี่แยกอำเภอถลาง ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายเป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์เมืองถลางที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเคยเป็นค่ายสู้รบกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2328 นอกจากนี้ภายในอุโบสถเก่ายังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดีบุกที่เก่าแก่ 3 องค์ เรียกว่า “พระในพุง” หรือ “พระสามกษัตริย์” ซึ่งอยู่ในพระอุทรของพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

อ่าวบางเทา
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 24 กิโลเมตร ตามถนนเทพกษัตรีไปทางเหนือสู่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีท้าวศรีสุนทร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนศรีสุนทรไปอีก 12 กิโลเมตร จนถึงหาดสุรินทร์เลี้ยวขวาไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงอ่าวบางเทา มีหาดทรายทอดยาวเหมาะสำหรับการเล่นน้ำและกีฬาทางน้ำต่างๆ

แหลมสิงห์
จากหาดสุรินทร์ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคลเข้าสู่หาดแหลมสิงห์ อาจจะขออนุญาตผ่านถนนส่วนบุคคล หรือเดินเลี่ยงไปอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางเดินไปตามลาดเขาลงสู่ชายหาด หาดทรายแหลมสิงห์เป็นหาดเล็กๆ ทรายขาวสะอาด ทางซ้ายมือของหาดเป็นแหลมเล็กๆ ที่มีโขดหินสวยงาม เรียกว่า แหลมสิงห์

น้ำตกกะทู้

เป็นน้ำตกขนาดเล็กร่มรื่นด้วยแมกไม้นานาพรรณ อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอกะทู้ 4 กิโลเมตร ทางเข้าน้ำตกอยู่ใกล้กับสนามกอล์ฟล็อคปาล์ม บริเวณน้ำตกมีร้านอาหารอร่อยบริการ


สะพานหิน

สถานที่พักผ่อนหย่อนใจภายในตัวเมือง อยู่สุดถนนภูเก็ตซึ่งยื่นลงไปในทะเลเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์หลัก 60 ปี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัส ไมล์ ชาวออสเตรเลีย ผู้นำเรือขุดแร่ลำแรกมาใช้ขุดแร่ดีบุกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2452 นอกจากนี้เป็นที่ตั้งของศูนย์กีฬาสะพานหินอีกด้วย


สวนผีเสื้อและอควาเรียมภูเก็ต
อยู่ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร เดินทางไปตามถนนเยาวราชแล้วเลี้ยวซ้ายที่สามแยกหมู่บ้านสามกองไปเล็กน้อย เป็นสถานที่รวบรวมและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในเขตร้อนจำพวกผีเสื้อ แมลง ปลา และปะการัง โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับธรรมชาติ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 10 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 150 บาท เด็ก 60 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 0 7621 5616, 0 7621 0861-2

สวนสัตว์ภูเก็ต
อยู่ระหว่างเส้นทางจากตัวเมืองไปอ่าวฉลอง แล้วเลี้ยวซ้ายที่ซอยป่าหล่าย ถนนเจ้าฟ้า ในสวนสัตว์ มีสัตว์นานาชนิด อาทิ เสือ นกชนิดต่าง ๆ กวาง ม้าลาย อูฐ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแสดงช้างและจระเข้ สวนสัตว์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.30-18.00 น. ค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย ผู้ใหญ่ 80 บาท เด็ก 30 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 500 บาท เด็ก 300 บาท สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 7638 1227, 0 7628 2043

เกาะสิเหร่
อยู่ห่างจากตัวเมือง 4 กิโลเมตร ไปตามถนนศรีสุทัศน์ มีเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะขนาดเล็กอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต คลองท่าจีนคั่นระหว่างเกาะทั้งสอง โดยมีสะพานเชื่อมติดต่อกันโดยสะดวก บนยอดเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ชายหาดไม่เหมาะสำหรับการเล่นน้ำ เนื่องจากพื้นทรายมีโคลนปน บริเวณแหลมตุ๊กแก เป็นที่ตั้งของ หมู่บ้านชาวเล หรือชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ ที่มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ตามเกาะในมหาสมุทรอินเดีย

ิเขารัง
เป็นเนินเขาเตี้ยๆ รถยนต์สามารถขึ้นไปจนถึงยอดเขา เทศบาลจัดเป็นสวนสุขภาพและสวนสาธารณะไว้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และชมทิวทัศน์ของเมืองภูเก็ต บนเขามีร้านอาหารบรรยากาศดี

่เกาะแก้ว

อยู่ห่างจากหาดราไวย์ ประมาณ 3 กิโลเมตร นั่งเรือจากหาดราไวย์ ประมาณ 30 นาที มีหาดทรายและธรรมชาติใต้น้ำสวยงามมาก บนเกาะมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ด้วย้


แหลมกา

มีหาดเล็กๆ และเรือให้เช่าไปเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ เช่น เกาะเฮ เกาะบอน ห่างจากตัวเมือง 16 กิโลเมตร จากห้าแยกฉลอง ใช้ทางหลวงหมายเลข 4024 ทางเข้าอยู่ตรงข้ามวัดสว่างอารมณ์


พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง

ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี ท้าวศรีสุนทร ห่างจากอนุสาวรีย์ไปทางถนนสายป่าคลอก ประมาณ 200 เมตร ตัวอาคาร ได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงเป็นบ้านท้องถิ่นของชาวภูเก็ต มี 2 หลัง อาคารหลังแรกจัดแสดงเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งทะเลตะวันตก สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เมื่ออารยธรรมอินเดียเผยแพร่เข้ามา ประวัติและวิธีการทำเหมืองแร่ดีบุก และสวนยางพารา ศิลปะพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู สำหรับอาคารหลังที่สองจัดแสดงฉากและเรื่องราวของศึกถลาง ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีที่น่าสนใจของชาวจีนในภูเก็ต และเรื่องราวความเป็นมาและถิ่นอาศัยของชาวเลในภูเก็ต 

เวลาเปิด-ปิด : เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. 

อัตราค่าเข้าชม : คนไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 100 บาท 

รายละเอียดติดต่อ โทร. 0 7631 1426, 0 7631 1025


อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะเขารัง อำเภอเมือง สร้างขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติให้กับพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง พ.ศ. 2400-2456) ปูชนียบุคคลผู้สร้างสรรค์คุณประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับจังหวัด ภูเก็ต และเป็นผู้วางรากฐานความเจริญรุ่งเรืองให้กับเกาะแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
พระยารัษฏานุประดิษฐ์ฯ เกิดที่จังหวัดระนอง ในตระกูลเจ้าเมืองระนอง สามารถพูดได้ 9 ภาษา และมีความรู้ทางด้านการปกครองเป็นอย่างยิ่ง ในปีพ.ศ. 2445 ได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นสมุหเทศภิบาลในมณฑลภูเก็ต ซึ่งก่อนหน้านั้นถนนหนทางในภูเก็ตมีแค่เพียงทางไปตลาดเท่านั้น นอกนั้นเป็นทางเดินเท้าและทางเกวียน แม่น้ำลำคลองก็ตื้นเขินจากการทำเหมืองแร่ แต่หลังจากที่ท่านเข้าปกครอง ท่านก็ออกนโยบายเก็บค่าบำรุงเมืองกับเจ้าของเหมือนแร่ เพื่อนำเงินนั้นไปใช้พัฒนาเมือง และตัดถนนหลายสาย เช่น ถนนเยาวราช ถนนนคร ถนนโกมารภัจน์ นอกจากนี้ท่านยังได้ชักชวนบริษัทเหมืองแร่ในต่างประเทศหลายแห่งให้มาลงทุน การทำเหมืองแร่ พร้อมกับชักชวนบริษัทรับซื้อแร่ เข้ามาซื้อแร่ยังภูเก็ต แล้วยังเชิญชวนธนาคารชาร์เตอร์ เข้ามาตั้งสาขาเพื่อเปิดบัญชีการโอนเงินซื้อขายแร่อีกด้วย ซึ่งผลจากนโยบายต่าง ๆ ทำให้ภูเก็ตเจริญก้าวหน้าไปมาก  จนกล่าวได้ว่า  สมัยนั้นภูเก็ตมีความเจริญเป็นรองแค่กรุงเทพฯเท่านั้น

และนอกจากอนุสาวรีย์พระยารัษฏานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) แล้ว บนเขารังแห่งนี้ยังเป็นจุดชมทัศนียภาพที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของภูเก็ต และยังมีมุมสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มุมออกกำลังกาย และสันทนาการอีกมากมาย

ศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ย

ตั้งอยู่ในซอยภูธร ติดกับศาลเจ้าปุดจ้อ ตามประวัติของศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ยนั้น มีความเกี่ยวข้องกับศาลเจ้าบางเหนียว กล่าวคือหลังจากเกิดไฟไหม้ศาลเจ้าของคณะงิ้วในซอยรมณีย์แล้ว ครั้งนั้นแกนนำกลุ่มหนึ่งได้แยกตัวออกไปตั้งศาลเจ้าบริเวณบ้านบางเหนียว ซึ่งต่อมาคือศาลเจ้าบางเหนียวในปัจจุบัน ขณะเดียวกันแกนนำอีกกลุ่มนึ่ง  ก็ได้ไปติดต่อกับเจ้าของที่ดิน บริเวณหมู่ที่ 8 ตำบลตลาดเหนือ เพื่อสร้างศาลเจ้าขึ้นใหม่ โดยเดิมทีที่ดินตรงนั้นเป็นสวนปลูกพลูด้านหน้าทิศตะวันออกเป็นคลองขนาดใหญ่ ที่เรือใบขนาดใหญ่สามารถแล่นเข้ามาเทียบท่าได้ เมื่อตกลงกับเจ้าของที่ดินเรียบร้อยแล้ว แกนนำชาวบ้านก็ได้อัญเชิญรูปเคารพเทพเจ้าจีนที่ยังหลงเหลือมาประดิษฐานไว้ ณ ที่แห่งใหม่ และสร้างศาลเจ้าขึ้นมา ชาวบ้านแถบนั้นเรียกศาลเจาแห่งใหม่นี้ว่า ศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ย มาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ย ได้รับการปรับปรุงและพัฒนา จนเป็นศาลเจ้าที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งและโดยเฉพาะในช่วงประเพณีถือศีลกินผัก จะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ในทุก ๆ วันจะมีประชาชนที่เคารพศรัทธาเดินทางเพื่อมากราบไหว้ขอพรจากสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าเป็นจำนวนมาก


ศาลเจ้าบางเหนียว

  อ๊ามบางเหนียว หรือ ศาลเจ้าต่าวบู้เก๊ง  หรือ มูลนิธิเทพราศี เป็นศาลเจ้า เก่าแก่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2447 ชาวบ้านเรียกว่า ศาลเจ้าต่าวโบ้เก๊ง หรือฉ้ายตึ๋ง เป็นที่ทราบกันว่า มีคณะงิ้วจีน คณะกังฉ๊ายฮี่ เดินทางมาจากเมืองจีน มาแสดงที่ตรอกเม่าเก้า (ซอยรมณีย์ปัจจุบัน) ขณะนั้นมีศาลเจ้า อยู่แห่งหนึ่ง จึงได้นำพระเตี๋ยนฮู้หง่วนโส่ย (เหล่าเอี๋ย) มาบำเพ็ญกุศล และเริ่มประเพณี ถือศีลกินผักเป็นประจำจนชาวบ้าน เกิดความเลื่อมใส และเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมากต่อมา เกิดเพลิงไหม้ที่ศาลเจ้า โดยไม่ทราบสาเหตุ จึงมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้นำ พระเตี๋ยนฮู้หง่วนโส่ย (เหล่าเอี๋ย) ไปประดิษฐานที่อ๊ามบางเหนียว และช่วยกันสร้างศาลเจ้าเรือนไม้หลังคามุงจาก4-5 ปีต่อมา เกิดเพลิงไหม้ศาลเจ้าอีกครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน จากนั้น ชาวบ้าน จึงได้นำพระเตี๋ยนฮู้หง่วนโส่ย (เหล่าเอี๋ย) ไปประดิษฐาน ณ บริเวณตรงกันข้าม ที่เกิดเพลิงไหม้ ชาวบ้านบางเหนียว เกิดความเลื่อมใส ศรัทธา ร่วมบำเพ็ญกุศล และถือศีลกินผักทุกปี ทำให้สถานที่คับแคบแก่ผู้ที่มาร่วม ทำพิธีกรรมของศาลเจ้า จึงมีคณะนำโดย ขุนเลิศภาคารักษ์ ได้ร่วมแรงร่วมใจ กับปรับปรุงศาลเจ้าขึ้นใหม่ เป็นหลังคามุงสังกะสีและเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน ซื้อที่ดิน 6 แปลง ในปี พ.ศ.2500 คณะกรรมการ บริหารศาลเจ้า จำนวน 5 คน ได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิเทพราศี ในปี 2501 จากนั้น ได้มีการปรับปรุง พัฒนาจาก หลังคาสังกะสี เป็นอาคารคอนกรีตที่มีขนาดใหญ่ อำนวยความสะดวก แก่ผู้คนมี่มาร่วมบำเพ็ญกุศลด้วย
ทุก ๆ ปีในช่วงเวลาของประเพณีถือศีลกินผัก ศาลเจ้าบางเหนียวจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีชาวไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศมาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก


ศาลเจ้ากะทู้

ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านกะทู้ อำเภอกะทู้ ตามประวัติในสมัยที่ชาวจีนเข้ามาเป็นกรรมกรเหมืองแร่ในภูเก็ต ได้เกิดโรคระบาดขึ้น คณะงิ้วจากเมืองจีนที่มาทำการแสดงที่บ้านกะทู้เกรงว่าอาจเป็นเพราะพวกตนไม่ ได้ถือศีลกินผักตามที่เคยปฏิบัติกันมาที่ประเทศจีน พวกเขาจึงได้จัดพิธีถือศีลกินผักขึ้น 9 วัน 9 คืน รวมทั้งช่วยกันสร้างศาลเจ้าขึ้น หลังจากนั้นโรคระบาดก็หายไป ชาวบ้านกะทู้เกิดความเลื่อมใส จึงจัดให้มีพิธีถือศีลกินผักต่อเนื่องกันมา จากนั้นประเพณีถือศีลกินผักก็แพร่หลายมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ตในปัจจุบัน

ต่อมาหลวงอำนาจนรารักษ์ (ต้นตระกูลตัณฑเวทย์) ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนบ้านกะทู้ได้ส่งคนไปนำเอา "เหี่ยวเอี้ยน" หรือขี้เถ้าธูปและกระถางธูปจากมณฑลกังไส ประเทศจีน มาไว้ที่ศาลเจ้า เพื่อให้พิธีถือศีลกินผักมีความถูกต้องสมบูรณ์ ศาลเจ้ากะทู้ จึงได้ชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดของประเพณีถือศีลกินผักบนเกาะภูเก็ตในปัจจุบัน

ที่ศาลเจ้ากะทู้ นอกจากจะมีรูปปั้นเทพเจ้าจีนต่าง ๆ แล้ว ยังมีรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ทรงชุดสีขาวพระพักตร์เอิบอิ่ม มีแต้มจุดแดงที่พระนลาฎ พระหัตถ์ขวาทรงขวดน้ำมนตร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าประทานพร ทรงยืนบนฐานมังกร ซึ่งนับเป็นประติมากรรมเทพเจ้าจีนที่สวยงามมากรูปหนึ่ง ซึ่งผู้คนให้ความศรัทธาสูงยิ่ง


ศาลเจ้าแสงธรรม
ป็นศาลเจ้าเก่าแก่อายุ 100 กว่าปี ตั้งอยู่ในซอยเล็ก ๆ บนถนนพังงา สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2434 โดย หลวงอำนาจนรารักษ์ (ดันด้วด) เพื่อเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าจีนที่สายตระกูลนับถือมาแต่เดิม โดยใช้เป็นสถานที่เคารพสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมพบปะระหว่างญาติมิตร
ความโดดเด่นของศาลเจ้าแสงธรรมคือ ความสวยงามของสถาปัตยกรรมในรูปแบบจีนประเพณี ตัวอาคารเป็นรูปแบบเก๋งจีน ขนาดเล็กกะทัดรัด ส่วนบนหลังคามีปูนปั้นรูปมังกรและตุ๊กตาจีน ซึ่งเป็นที่นิยมในมณฑลฮกเกี้ยน ประดับตกแต่งอยางสวยงาม นอกจากนี้ภายในศาลเจ้ายังมีภาพเขียนลายเส้นสีดำในตารางสี่เหลี่ยมเต็มฝาด้าน ข้างทั้งสองด้าน กล่าวถึงเรื่อง ซิยิ่นกุ้ยแห่งราชวงศ์กุ้ง
ศาลเจ้าแสงธรรม ได้รับพระราชทานรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ในปีพ.ศ. 2540 โดยผ่านการคัดเลือกของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้มีการบูรณะศาลเจ้าครั้งใหญ่ไปเมื่อ พ.ศ. 2542 เพื่อฉลองศาลเจ้าครบรอบ 109 ปี ในปีพ.ศ. 2543

ศาลเจ้าปุดจ้อ
เป็นศาลเจ้าเก่าแก่กลางเมืองภูเก็ต ตั้งอยู่บนถนนระนอง ติดกับศาลเจ้าจุ๊ยตุ่ย ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม หรือองค์พระกวนอิมปุดจ้อ ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในพระพุทธศาสนานิกายมหายาน

ตามประวัติเดิมที่ตั้งของศาลเจ้าในปัจจุบันเป็นคลองที่เรือใหญ่สามารถแลนมา เทียบท่าได้ และมีศาลเจ้าเต้กุนหรือศาลเจ้ากวนอู ตั้งอยู่ก่อนแล้ว ต่อมามีพ่อค้านั่งเรือใบสามหลักมาจากปีนังมาทำการค้ายังเมืองภูเก็ต ได้นำรูปแกะสลักไม้องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมปุดจ้อติดตัวมาด้วย เมื่อเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวมีความเหมาะสม จึงได้อัญเชิญพระโพธิสัตว์กวนอิมปุดจ้อขึ้นไปไว้ที่ศาลเจ้าเต้กู้น ต่อมาชาวบ้านแถบนั้นเกิดความเลื่อมใสเข้ามากราบไหว้บูชามากมาย จึงเปลี่ยนชื่อจากศาลเจ้าเต้กู้นมาเป็นศาลเจ้าปุดจ้อจนถึงทุกวันนี้

เรือดำน้ำดูปะการัง (ภูเก็ตซับมารีน)

เป็นบริการการดำน้ำดูปะการัง ปลา สิ่งมีชีวิตต่างๆ และ บรรยากาศใต้ท้องทะเล ที่ความลึก ประมาณ 30 เมตร บริเวณเกาะไม้ท่อน  โดยใช้เรือดำน้า ซึ่งจุนักท่องเที่ยวได้เที่ยวละ 48 คน  เรือจะออกจากท่าเรื่อรัษฎา  วันละ 5 เที่ยว  ค่าบริการ ผู้ใหญ่คนละ 2,500 บาท เด็กคนละ 1,800 บาท  สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ  ภูเก็ตซับมารีน  ท่าเรื่อรัษฎา  โทร. 0 7625 3200-3  โทรสาร  0 7625 3204


ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตภูเก็ต (สถานีทดลองยางภูเก็ต)

ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตภูเก็ต เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นสถานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตยางพาราครบวงจร รวมถึงข้อมูลด้านสมุนไพรจากสวนป่าสมุนไพรไทย และยังจะได้เพลิดเพลินกับการดูนกนานาพันธุ์ ในการเดินเที่ยวสวนป่า และพบกับกล้วยไม้ป่าหายากต่างๆ สอบถามเพิ่มเติม โทร.0 7631 1049


อ่าวเสน

 เป็นอ่าวเล็กๆ ติดกับหาดในหานไปทางขวา ผ่านโรงแรมภูเก็ตยอช์ทคลับ มีชายหาดเล็กๆ ที่สงบเรียงรายไปด้วยโขดหินน้อยใหญ่ หาดทรายขาวสะอาด


พิพิธภัณฑ์เปลือกหอยภูเก็ต
ตั้งอยู่บนถนนสายห้าแยกฉลอง-หาดราไวย์ เป็นแหล่งรวบรวมเปลือกหอยหลากสีสันและลวดลายจากทั่วทุกมุมโลก  โดยมีการจัดเรียงหอยเป็นหมวดหมู่  ซึ่งประกอบด้วย ฟอสซิล เปลือกหอย อายุหลายร้อยล้านปี เปลือกหอยยักษ์น้ำหนักกว่า 250 กิโลกรัม แอมโมไนท์ขนาดใหญ่เกือบเท่าล้อรถ  ไข่มุกสีทองหนัก 140 กะรัต เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน เวลา 8.00-18.00 น. ค่าเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท รายละเอียดติดต่อ โทร. 0 7638 1888, 0 7638 1274