WWW.TRAVEL2GUIDE.COM

เป็นศาลที่สร้างขึ้นใหม่ตั้งอยู่ถนนหน้าเมือง เป็นอาคารสถาปัตยกรรมไทยหลังคาทรงจตุรมุข ส่วนบนเป็นยอดปรางค์ ภายในศาลมีเสาหลักเมือง 2 เสา เสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองเก่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2377 อีกเสาหนึ่งเป็นเสาหลักเมืองปัจจุบันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2438 นอกจากนั้นยังมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอยู่ในบริเวณเดียวกัน เปิดให้เข้าชมเวลา 07.00–16.00 น.

วัดโสธรวรารามวรวิหาร

วัดโสธรวรารามวรวิหาร อยู่ในเขตเทศบาลเมือง ริมแม่น้ำบางปะกง เดิมชื่อว่า “วัดหงส์” สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพุทธโสธร” พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวเมืองเคารพนับถือ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ หายเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางสมาธิ หน้าตักกว้าง1.65เมตร สูง 1.48 เมตร ฝีมือช่างล้านช้าง ตามประวัติเล่าว่า เป็นพระพุทธรูปปาฏิหาริย์ลอยทวนน้ำมา และมีผู้อัญเชิญขึ้นมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้สันนิษฐานว่าตั้งแต่ประมาณปีพ. ศ. 2313 สมัยต้นกรุงธนบุรี แต่เดิมเป็นพระพุทธรูปหล่อทองสัมฤทธิ์ปางสมาธิหน้าตักกว้างศอกเศษ รูปทรงสวยงามมาก แต่พระสงฆ์ในวัดเกรงว่าจะมีผู้มาลักพาไปจึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์เดิม ไว้จนมีลักษณะดังที่เห็นในปัจจุบัน ทุกวันนี้จะมีผู้คนต่างมานมัสการปิดทองหลวงพ่อโสธรกันเป็นจำนวนมาก

สถานที่น่าสนใจในวัดได้แก่ 
พระอุโบสถหลังใหม่ ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์  และเริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2530  ลักษณะพระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบรัตนโกสินทร์ประยุกต์  สร้างด้วยหินอ่อน ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จริง เปิดให้เข้าชมทุกวันระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. ผู้เข้าชมควรแต่งกายสุภาพ
วิหารจำลอง ประดิษฐานหลวงพ่อโสธรองค์จำลอง สืบเนื่องจากทางคณะกรรมการวัดมีมติให้รื้อพระอุโบสถหลังเก่าซึ่งมีสภาพทรุด โทรมและคับแคบ   และสร้างพระอุโบสถหลังใหม่   โดยได้อัญเชิญพระพุทธโสธรองค์จำลองไปประดิษฐานไว้เพื่อเปิดให้ประชาชนได้มา นมัสการและปิดทองตามปกติ เปิดให้นมัสการวันธรรมดาระหว่างเวลา 07.00-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ระหว่างเวลา 07.00-17.00 น. สอบ ถามข้อมูลเพิ่มเติมวัดโสธรฯ โทร. 03851 1048, 03851 1666  นอกจากนั้นบริเวณท่าน้ำของวัดมีเรือบริการท่องเที่ยวลำน้ำบางปะกงไปขึ้นที่ ตลาดบ้านใหม


อุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน
พระพิฆเนศองค์นี้มีชื่อเรียกว่า "พระพิฆเนศปางยืน องค์สำริด สำเร็จ สมปรารถนา" สำหรับวัตถุประสงค์ในการสร้าง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทรา และของประเทศไทย อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ การขายพืชผล ก่อให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น และเป็นอนุสรณ์สถานที่ทรงคุณค่าชั่วลูกชั่วหลานสืบไป นับได้ว่าเป็นองค์พระพิฆเนศที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดสูงถึง 39 เมตร เนื้อองค์ทำจากสำริด (ประกอบด้วย ซิลิคอน, แมงกานีส, นิเกิล, เหล็ก, ดีบุก, ตะกั่ว, สังกะสี, ทองแดง) พระหัตถ์ทั้ง 4 นั้นถือ ดอกบัว, มะม่วง, กล้วย, อ้อย และขนุน และที่พระบาทมีหนูกอดลูกมะพร้าว ซึ่งมีความหมาย คือ ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน
องค์พระพิฆเนศ องค์ยืนนี้ได้ก่อสร้างและประดิษย์ฐานอยู่ที่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา นั่งท่องเที่ยวสามารถมองเห็นแต่ไกล.

วัดโพรงอากาศ
เป็นวัดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งใน อำเภอวังน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ผู้สร้างวัดแห่งนี้คือ พระอาจารย์สมชาย พุทฺธสโร ซึ่งได้รับการบริจาคที่ดินบริเวณตำบลโพรงอากาศ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๔๘ ไร่ และพระอาจารย์สมชาย พุทฺธสโร ได้เริ่มก่อสร้างอุโบสถในปี พ.ศ. ๒๕๓๙

วัดสมานรัตนาราม (ใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร)

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง บ้านหมู่ที่ ๑๑ ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และใกล้กับโครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง


วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง)

ตั้งอยู่บนถนนศุภกิจ ใกล้กับบริเวณตลาดบ้านใหม่ เดิมเป็นวัดจีนแต่ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน ภายในวัดมีวิหารลักษณะเหมือนศาลเจ้า เป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโต (พระไตรรัตนนายก) หรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เจ้าพ่อซำปอกง” ในประเทศไทยมีเพียง 3 องค์เท่านั้น ประดิษฐานอยู่ที่วัดกัลยาณมิตร (ฝั่งธนบุรี) จังหวัดกรุงเทพฯ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ จะมีนักท่องเที่ยวจากฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน มานมัสการอยู่เป็นประจำ


วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่)
ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ ตำบลบ้านใหม่ ห่างจากศาลากลางจังหวัด 1 กิโลเมตร เป็นวัดจีนในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ขยายมาจากวัดเล่งเน่ยยี่ในกรุงเทพฯ  สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2449 เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ได้ทรงพระราชทานนามวัดว่า “วัดจีนประชาสโมสร”   ส่วนชื่อภาษาจีนของวัด คำว่า “ฮก แปลว่า วาสนา โชคลาภ ความมั่งมีศรีสุข   เล้ง หรือ เล่ง หมายถึง มังกร จึงมีผู้เรียกวัดนี้ ว่า มังกรวาสนา หรือ มังกรแห่งโชค”  ตามหลักฮวงจุ้ยจีนกล่าวว่า วัดนี้ถือเป็นตำแหน่งท้องมังกร ส่วนตำแหน่งหัวมังกรอยู่ที่วัดเล่งเน่ยยี่ จังหวัดกรุงเทพฯ และหางมังกรนั้นอยู่ที่วัดเล่งฮัวยี่ จังหวัดจันทบุรี ทั้งสามตำแหน่งของมังกรพาดผ่านดินแดนของความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์  เยาวราชดินแดนแห่งการค้าขาย เมืองแปดริ้วดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและจังหวัด จันทบุรี เมืองแห่งอัญมณีพลอย ภายในวัดจีนประชาสโมสรมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น ท้าวจัตุโลกบาลขนาดใหญ่ 4 องค์ทำจากกระดาษที่ประตูทางเข้า  พระประธาน 3 องค์และองค์ 18 อรหันต์ ทำด้วยกระดาษนำมาจากเมืองจีน  รูปหล่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภ(ไฉ่เซ่งเอี้ย) ที่อยู่ด้านขวาขององค์พระประธานและยังมีเทพเจ้าอีกหลายองค์ตามคติจีน  ระฆังใบใหญ่น้ำหนักกว่า 1 ตัน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ใบในโลกที่รอบระฆังมีอักษรมหาปรัชญาปารมิตราสูตรถือกันว่าผู้ได้ใดตีระฆังก็ เหมือนกับการสวดมนต์ซึ่งได้บุญกุศล    นอกจากนี้ยังมีวิหารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เช่น   วิหารบูรพาจารย์  วิหารเจ้าแม่กวนอิม  วิหารตี่จั๊งอ๊วงและสระนทีสวรรค์ เป็นต้น

อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำโจ้โล้ (คลองท่าลาด) ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า หลังจากที่พระเจ้าตากสินตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยาได้เดินทัพ ผ่านจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรีและปะทะกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้ ด้วยพระปรีชาสามารถของพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์รบชนะพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าและได้พักทัพบริเวณนี้ พระองค์จึงสร้างพระเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะในการสู้รบกับพม่า แต่บริเวณดังกล่าวถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนพระเจดีย์พังทลายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2491 ต่อมามีการสร้างพระสถูปเจดีย์พระเจ้าตากสินมหาราชขึ้นใหม่บริเวณเดิม นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาสักการะอนุสรณ์หรือนั่งพักผ่อนชมภูมิทัศน์ริม แม่น้ำซึ่งจะสามารถมองเห็นเกาะลัดอยู่ฝั่งตรงข้าม

ตลาดน้ำบางคล้า

อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 30 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำบางปะกงในเขตอำเภอบางคล้า เหมาะสำหรับผู้ที่นิยมการท่องเที่ยวรับประทานอาหารในบรรยากาศธรรมชาติริมแม่ น้ำ เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ระหว่างเวลา 8.00 - 18.00 น. มีทั้งตลาดบนบกริมฝั่งและร้านบนแพยาวคลุมหลังคาสำหรับเดินเลือกซื้ออาหาร หลากหลายทั้งคาวหวาน อาทิ ก๋วยเตี๋ยว หอยทอด ไอศกรีม เฉาก๊วย ฯลฯ มีโต๊ะเก้าอี้นั่งรับประทานอาหาร และมีเรือพ่อค้าแม่ค้าพายมาจอดเทียบจำหน่ายผลิตผลเกษตรพื้นบ้านตามฤดูกาลมาก มาย โดยเฉพาะมะม่วงและน้ำตาลสด ที่ขึ้นชื่อของบางคล้า นอกจากนี้ยังมีบริการเรือท่องเที่ยวล่องไปตามลำน้ำบางปะกงสำหรับชมทิวทัศน์ ค่าบริการประมาณคนละ 60 บาท


เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ(มูลนิธิสว่างศรัทธาธรรม)

ประดิษฐานอยู่ที่สมาคมสงเคราะห์การกุศลฉะเชิงเทรา ถนนศุภกิจ เป็นรูปยืนองค์ลอย สูงประมาณ 1 เมตรเศษ หนัก 40 กิโลกรัม ทำจากเซรามิก เมื่อปี พ.ศ. 2540 มีคนพบลอยน้ำมาติดฝั่งบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ชาวแปดริ้วจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสเดินทางไปสักการะเป็นประจำสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 08 5013 0946


ตลาดคลองสวน 100 ปี

เป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ ในอดีตคลองสวนเป็นเส้นทางสำหรับเดินทางไปกรุงเทพมหานคร จากประตูน้ำท่าถั่ว (ฉะเชิงเทรา) แล่นผ่านตลาดคลองสวน ก่อนจะแล่นเข้าสู่ประตูน้ำ (วังสระปทุม) กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวคลองสวนทั้งชาวไทยจีน ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม วัฒนธรรมผสมผสาน การดำรงชีวิตประจำวันอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งจะเห็นได้จากสิ่งก่อสร้าง เช่น โรงเจ วัด สุเหร่า จะตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน และตลาดแห่งนี้จะเป็นแหล่งนัดพบของผู้คนมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติอัน ได้แก่ ร้านกาแฟ สำหรับผู้ที่สนใจจะชมบรรยากาศของวิถีชีวิตร่วมสมัยย้อนยุคกว่า 100 ปี ชิมอาหารอร่อยทั้งอาหารคาวที่มีสูตรเฉพาะ ขนมหวาน กาแฟสูตรโบราณดั้งเดิม ชมของเก่าและสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า สามารถแวะชมได้ที่ตลาดคลองสวน 100 ปีแห่งนี้แห่งเดียว

ตลาดคลองสวน 100 ปี ตั้งอยู่ริมคลองประเวศน์บุรีรมย์ในพื้นที่ 2 จังหวัด คือ ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ตลาดคลองสวนเป็นตลาดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หากย้อนกลับไปในอดีต การเดินทางโดยเรือจะสะดวกและรวดเร็วที่สุด ถ้าเดินทางจากฉะเชิงเทราเข้ากรุงเทพ ฯ จะต้องใช้เรือเมล์ขาวของนายเลิศซึ่งมีเพียงลำเดียว รับคนจากประตูน้ำท่าถั่ว (ฉะเชิงเทรา) ผ่านตลาดคลองสวน ก่อนจะแล่นเข้าสู่ประตูน้ำ (วังสระปทุม) กรุงเทพมหานคร

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่- เทศบาลตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.0-3859-5633, 0-3859-5716- เทศบาลตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการโทร.0-2739-3253, 0-2739-3329, 0-2704-1273


ตลาดบ้านใหม่

ตลาดบ้านใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนศุภกิจ (ทางไปอำเภอบางน้ำเปรี้ยว) เป็นตลาดเก่าอายุกว่า 100 ปี เป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน เมื่ออดีตสถานที่แห่งนี้มีความคับคั่งด้วยผู้คนที่มาประกอบอาชีพค้าขาย รวมทั้งเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งจะดูได้จากอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างติด ๆ กัน และอยู่ชิดริมน้ำ วันเวลาผ่านพ้นไปนานแต่ความสำคัญของตลาดริมน้ำแห่งนี้ก็ยังคงดำรงอยู่จนถึง ปัจจุบันนอกจากตลาดบ้านใหม่เป็นสถานที่สำหรับถ่ายทำภาพยนตร์และละครยอดนิยมแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารอร่อย ขนมและของขบเคี้ยวนานาชนิด เป็นที่รวบรวมอาหารรสเด็ดของแปดริ้ว ทั้งอาหารจีน อาหารไทย ที่มีรสชาติตามมาตรฐานอาหารของแต่ละชาติ มีร้านกาแฟโบราณรสชาติเข้มข้นหอมหวาน เป็นที่รวบรวมของฝากที่ต้องแวะซื้อเป็นของฝากก่อนกลับบ้านทุกครั้ง

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่- สำนักงาน ททท.ภาคกลางเขต 8 โทร.0 3731 2282, 0 3731 2284 www.tat8.com
- ชมรมรักษ์ตลาดบ้านใหม่ โทร. 0 3881 7336, 08 6148 4513, 08 9881 7161, 08 9666 4266 เปิดขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00–1700 น.


ล่องเรือชมปลาโลมา
บริเวณตำบลท่าข้าม อำเภอบางปะกง ปลาโลมาจากอ่าวไทยจะตามแหล่งอาหารเข้ามาหากิน เนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี บริเวณนี้จะมีปลาดุกทะเลซึ่งเป็นอาหารโปรดของปลาโลมาเป็นจำนวนมาก  ปลาโลมาจะอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงประมาณ 40-50 ตัว และกระโดดขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำพร้อมๆกัน ครั้งละประมาณ 3-4 ตัว พันธุ์ที่พบมากคือ ปลาโลมาอิรวดี (หัวบาตรหลังมีครีบ) โลมาหลังโหนก โลมาปากขวด รวมทั้งปลาโลมาเผือกที่มีความสวยงาม

นอกจากนี้ในเส้นทางล่องเรือยังผ่านป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์และ นกนานาชนิด อาทิ นกกาน้ำ นกแสก นกกระยาง นกนางนวล นกกระเต็น ค้างคาวแม่ไก่และลิงแสม เป็นต้น  และผ่านเกาะท่าข้ามใกล้กับหมู่ที่ 1 ที่ปลาโลมาเข้ามาหาเหยื่อซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 125 ไร่ จุดลงเรือมี 2 แห่งคือ ท่าเรือหมู่ 1 บ้านท่าแหลม และท่าเรือหมู่ 8 บ้านคลองตำหรุ ใช้เวลาล่องเรือ1-2 ชั่วโมง  เรือมีหลายขนาด ค่าโดยสาร แบบเหมาลำ  ราคา 600-1200 บาทและแบบนั่งรวม ไม่เกิน15 คน  ราคาคนละ 180 บาท  ควรไปชมช่วงเช้าก่อนเที่ยงหรือช่วงเย็น 

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ สำนักงานเทศบาลตำบลท่าข้าม โทร. 0 3857 3411-8  0 3857 3411-2  ต่อ 19

วัดพระธาตุวาโย (วัดห้วยน้ำทรัพย์)
ตั้งอยู่หมู่ 2 ตำบลลาดกระทิง ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 3259 (สายสนามชัยเขต – ท่าตะเกียบ) ห่างจากตัวอำเภอประมาณ 9 กิโลเมตร หน้าวัดจะสังเกตเห็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ภายในวัดมีเจดีย์ทรงระฆัง ประดับด้วยกระจกสีเหลือง น้ำเงิน ขาว งดงามแปลกตา ด้านในเจดีย์มีพระพุทธรูปจำนวนมาก และภาพเขียนสีน้ำมันเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ มีบันไดขึ้นไปด้านบนได้หลายชั้น ชั้นบนสุดจะมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบและอ่างเก็บน้ำลาดกระทิง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก สภาพโดยรอบคงความเป็นธรรมชาติเหมาะสำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เปิดระหว่างเวลา 08.00-17.00 น.

หมู่บ้านน้ำตาลสด

ตั้งอยู่ที่บ้านปากน้ำ หมู่ที่ 11 ถนนวนะภูติ ตำบลปากน้ำ เป็นแหล่งผลิตน้ำตาลสดพร้อมดื่มแห่งเดียวในภาคตะวันออก ชมขั้นตอนการผลิตน้ำตาลสดจากต้นตาลโตนด และสัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกรที่ผลิตน้ำตาลสด ชมกระบวนการผลิตน้ำตาลสด เริ่มด้วยการปีนต้นตาลสูงระฟ้าเพื่อรองน้ำตาลยามเช้าและเย็น ต่อด้วยขบวนการต้มน้ำตาลสด ก่อนที่จะส่งไปขายทั่วประเทศ การทำน้ำตาลปึก และชิมน้ำตาลสดหอมหวาน ก่อนเดินทางกลับเลือกซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เป็นของฝากกลับบ้าน เช่น น้ำตาลสดพร้อมดื่ม น้ำตาลปึก หมวกกุ้ยเล้ย งวงตาลตัวผู้ที่ชาวบ้านเชื่อว่ารักษาโรคเบาหวานได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา  โทร. 0 3851 1635 หรือ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หมู่บ้านน้ำตาลสด ตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า ตั้งอยู่ริมถนนสายบางคล้า-คลองเขื่อน


เขื่อนทดน้ำบางปะกง

ตั้งอยู่บริเวณบ้านไผ่เสวก ตำบลบางแก้ว ห่างจากตัวเมืองไปตามลำน้ำบางปะกง ประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เส้นทางฉะเชิงเทรา-บางคล้า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกง  เป็นเขื่อนป้องกันน้ำเค็ม ใช้อุปโภคบริโภค และจัดสรรน้ำเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน
เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ 643,750 ไร่ ตั้งอยู่ใจกลางของพื้นที่ป่าผืนใหญ่รอยต่อ 5 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และปราจีนบุรี เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำบางปะกงทางด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา คลองโตนดจังหวัดจันทบุรีและแม่น้ำประแสร์ในจังหวัดระยอง สภาพภูมิประเทศทั่วไปมีความลาดชันไม่มากนัก มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 30-150 เมตร  ยอดเขาสูงสุดอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเขตรักษาพันธุ์ฯ คือ เขาสิบห้าชั้น มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 802 เมตร

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตั้งอยู่ตำบลเขาหินซ้อน ริมทางหลวงหมายเลข 304 กิโลเมตรที่ 51-52 อยู่ห่างจากอำเภอพนมสารคาม 17 กิโลเมตร 
มีเนื้อที่กว้างใหญ่ประมาณ 1,895 ไร่  ศูนย์แห่งนี้ได้รับสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 
พ.ศ. 2522 เนื่องมาจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีสภาพเสื่อมโทรม ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  เนื้อดินเป็นทราย มีการชะล้างพังทลายของดินสูง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพัฒนาพื้นที่ สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์บริเวณศูนย์ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่า การพัฒนาดิน การวางแผนการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ จนพื้นที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยวิธีการเกษตรแผนใหม่ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประชาชนมีโอกาสพึ่งพาตนเองได้   จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตและเป็นศูนย์รวมการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จ  ถือเป็นต้นแบบแนวทางและตัวอย่างการพัฒนาให้แก่พื้นที่อื่น  อีกทั้งอาศัยความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆและเอกชน  ภายในศูนย์มีการแบ่งพื้นที่เพื่อทำการสาธิตและทดลองงานต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาที่ดิน  การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ  งานศิลปาชีพและโครงการสวนป่าสมุนไพร  มีแปลงทดลองปลูกพืชนานาชนิด  อาทิ  พันธุ์หวายที่มีในประเทศไทย อโวคาโด มะม่วงทุกพันธุ์ทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจัดตั้งเป็น สวนพฤกษศาสตร์ภาคตะวันออก  เพื่อดูแลงานวิจัยเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรต่าง ๆ    ภายในอาคารจัดเป็นนิทรรศการบรรยายและสาธิตการผลิตสมุนไพรต่าง ๆ  มีห้องอบสมุนไพรซึ่งเปิดบริการทุกวันเสาร์-อาทิตย์  เวลา 08.00-16.00 น. (30 บาทต่อคน) ศูนย์แห่งนี้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประจำปี 2545 รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและรางวัลอุตสาหกรรมการท่อง เที่ยวประจำปี 2547 รางวัลยอดเยี่ยมประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร 

ผู้ที่สนใจจะเข้าชมศูนย์เป็นหมู่คณะและต้องการเจ้าหน้าที่นำชม ใช้เวลาชมประมาณ 2 ชั่วโมง  ทำจดหมายติดต่อล่วงหน้า เรียน ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากนั้นศูนย์ฯ ยังมีบริการที่พัก (ห้องพัดลม 100 บาทต่อคน ห้องแอร์ 600 บาทต่อคืน (นอน 3 คน)  สอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน  ในเวลาราชการ 08.00-17.00 น. โทร. 0 3859 9105-6

อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)
ตั้งอยู่ถนนศรีโสธรตัดใหม่ ตรงข้ามสัมมนาคารบางปะกงปาร์ค (มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์)  รูปปั้นทำด้วยโลหะหล่อสูง  2.65 เมตร ประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 8มิถุนายน พ.ศ.2542  พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นชาวแปดริ้ว เป็นนักปราชญ์ทางด้านภาษาไทย ตลอดชีวิตท่านได้รับราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาตั้งแต่สมัยรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านแต่งโคลงสุภาษิต คำประกาศราชพิธี แบบเรียนภาษาไทยหลายเล่มเพื่อใช้ในการสอน เช่น มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังคโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ นับเป็นแบบเรียนภาษาไทยที่สมบูรณ์ที่สุดสำหรับเยาวชนไทยในยุคนั้น

วัดโพธิ์บางคล้า

อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 23 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ 31 ไร่  ชื่อว่า “วัดโพธิ์” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2310-2350 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นศิลปะอยุธยากับรัตนโกสินทร์ พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐฉาบปูน หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องเกล็ดเต่าทำจากดินเผา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์  บริเวณวัดจะเห็นค้างคาวแม่ไก่เกาะอยู่ตามต้นไม้ ค้างคาวแม่ไก่เป็นค้างคาวสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หน้าตาเหมือนสุนัขจิ้งจอกคือ มีดวงตาโต จมูกและใบหูเล็ก ขนสีน้ำตาลแกมแดง และมีเล็บที่แหลมคมสามารถเกาะกิ่งไม้ได้  มีปีกสีดำ บินได้เร็วและไกลเหมือนนก กางปีกกว้างประมาณ 3 ฟุต แม่ค้างคาวให้กำเนิดลูกได้ครั้งละ 1 ตัว ในเวลากลางวันจะอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่เกาะกิ่งไม้ห้อยหัวลงมา ยามพลบค่ำก็จะออกบินไปหากิน  อาหารของค้างคาวจะเป็นพวกผลไม้และใบไม้อ่อนเช่น ใบโพธิ์ ใบมะม่วง ใบมะขาม เป็นต้น เคยมีผู้เฝ้าสังเกตการหากินของค้างคาวที่นี่พบว่าค้างคาวบินไปหากินตามเขต ชายแดนไทยหรือฝั่งประเทศกัมพูชา หากล่องเรือชมทัศนียภาพตามลำน้ำบางปะกงจะผ่านวัดนี้  นักท่องเที่ยวสามารถแวะขึ้นชมวัดได้จากท่าน้ำของวัด 

การเดินทาง ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (สายฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ประมาณ 17 กิโลเมตร แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3121 เข้าตัวอำเภอบางคล้าไปประมาณ 6 กิโลเมตร  ผ่านศาลและอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้วเลี้ยวซ้ายประมาณ 500 เมตร


สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่
ตั้งอยู่บนเส้นทางสาย 3259 (พนมสารคาม-ท่าตะเกียบ) ก่อนถึงอำเภอท่าตะเกียบ ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นสถานที่วิจัยเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากใกล้จะสูญพันธุ์  เปิดเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยแก่นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจภายในสถานีมีลิง ชะนี ค่าง หมี นกยูง นกเป็ดก่า ฯลฯ  หากจะเข้าชมเป็นหมู่คณะควรจะติดต่อล่วงหน้า หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่ากระบกคู่ โทร. 08 9589 9167

วัดเมือง (วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์)

อยู่ตำบลหน้าเมือง เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2377 พร้อมๆ กับการสร้างป้อมและกำแพงเมือง โดยช่างฝีมือจากเมืองหลวง มีรูปแบบสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกับพระปรางค์วัดพระศรีรัตนศาสดารามที่กรุงเทพ มหานคร ต่างกันเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น วัดนี้เดิมเรียกว่า วัดเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสจังหวัดฉะเชิงเทราและได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์” แปลว่าวัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง


เขาหินซ้อน

ตั้งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) กิโลเมตรที่ 53 อยู่ห่างจากตัวเมืองฉะเชิงเทรา 53 กิโลเมตร เป็นภูเขาที่มีความสูงไม่มากนัก ประกอบด้วยก้อนหินขนาดใหญ่น้อยรูปทรงต่าง ๆ เรียงรายอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณเขาหินซ้อนจัดเป็น “สวนรุกขชาติสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ” เป็นที่ตั้งของศาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ประดิษฐานพระบวรราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศาล นี้เมื่อปี พ.ศ. 2522 ด้านหลังของศาลนี้เป็นที่ตั้งของวัดเขาหินซ้อน


ล่องเรือรอบเกาะลัด

ที่อำเภอบางคล้า มีบริการล่องเรือรอบเกาะลัด ชมวิถีชีวิตริมน้ำ บ้านเรือนที่ปลูกสร้างอย่างสวยงามบนเกาะลัด ผ่านพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะแวะสักการะก็ได้ ผ่านวัดโพธิ์บางคล้า ซึ่งมีค้างคาวแม่ไก่จำนวนมากมายอยู่บนต้นไม้ในบริเวณวัด นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและเช่าเรือได้ที่สวน อาหารแม่น้ำ  ค่าโดยสารคนละ 60 บาท เรือออกเวลา 17.00 น. (เสาร์ - อาทิตย์มีรอบ 12.00 น.)


 


 
 
 
 
แนะนำสถานทีท่องเที่ยว กราบไหว้พระเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิต และครอบครัว หรือคนที่เรารัก และยังได้ท่องเที่ยวอีกต่างหาก ซึ่งใช้เวลาภายในวันเดียว ก็สามารถท่องเที่ยวได้ ....
1
ศาลหลักเมือง
2
วัดโสธรวรารามวรวิหาร
3
วัดอุภัยภาติการาม (วัดซำปอกง)
4
วัดจีนประชาสโมสร (วัดเล่งฮกยี่)
5
วัดพระธาตุวาโย (วัดห้วยน้ำทรัพย์)
6
เจ้าแม่กวนอิมลอยน้ำ
7
วัดโพธิ์บางคล้า
8
วัดเมือง (วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์)
9
วัดสมานรัตนาราม (ใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร)